ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. เข้าร่วมประชุม The 26th meeting of the Technology Executive Committee (TEC) และการประชุม The joint session of the Technology Executive Committee and the Advisory Board of the Climate Technology Centre and Network เมื่อวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) โดยการประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( United Nations Framework Convention on Climate Change, UNFCCC)
ในส่วนของนโยบายของกลไกภายใต้การประชุมครั้งนี้ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจและเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย อาทิ แผนการดำเนินงานของ TEC ช่วง ค.ศ. 2023 – 2027 (Rolling workplan of the TEC for 2023-2027) มุ่งเน้นสนับสนุนเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) มากยิ่งขึ้น การเชื่อมต่อกับศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ที่มีบทบาทสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเด็น Global Stocktaking เพื่อเป็นหนึ่งในประเด็นหารือในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (Conference of the Parties, COP28) และการเชื่อมต่อกับกลไกการเงินโลก (Finance Mechanism)
ในการประชุมนี้ ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมเพื่อแสดงบทบาทและการนำโอกาสมาสู่ประเทศไทยโดยเห็นด้วยกับการปรับปรุงการประเมินเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Technology Need Assessment, TNA) ซึ่ง TNA นำมาสู่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับประเทศไทย TNA ฉบับที่ 1 ที่ดำเนินการไปในปี ค.ศ. 2010 เป็นประโยชน์อย่างมาก และได้ถูกนำไปใช้ในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 (Climate Change Master Plan 2015-2050) เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Thailand’s Intended Nationally Determined Contribution) และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan of Thailand, NAP) ซึ่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้มีการปรับปรุง TNA ฉบับที่ 2 ในปีนี้ ต้องขอขอบคุณ United Nations Environment Programme Copenhagen, Global Environmental Fund (GEF) และ TEC ที่สนับสนุนให้ดำเนินการ ซึ่งกระบวนการทำ TNA ฉบับปรับปรุงนี้ ควรมีการระบุเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น การใช้ TNA นี้สนับสนุน NDC หรือใช้สนับสนุนการดำเนินการเชิงพื้นที่ที่เปรียบเสมือนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โดยเฉพาะทำงานร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรม (Industrial Consortium) ในพื้นที่เสมือนเป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลักให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในระดับจังหวัดต่อไป ซึ่งการดำเนินงานในระดับพื้นที่นี้จะทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อน Net Zero ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการขับเคลื่อนระดับนโยบายหรือภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ยังคงต้องสอดรับกับเป้าหมายประเทศด้วย
อีกทั้งในที่ประชุม ดร.กิติพงค์ และ ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถ้อยแถลงอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในหลายช่วง โดยหลังจากนี้ สอวช. จะประสานการดำเนินงานและสรุปสาระสำคัญให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกลางของประเทศ (National Focal Point) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป