messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » พาชม 8 ผลงานสำคัญ ภายใต้ 5 ภารกิจ ในปี 65 จาก สอวช. เบื้องหลังนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ขับเคลื่อนประเทศ

พาชม 8 ผลงานสำคัญ ภายใต้ 5 ภารกิจ ในปี 65 จาก สอวช. เบื้องหลังนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ขับเคลื่อนประเทศ

วันที่เผยแพร่ 12 เมษายน 2023 563 Views

🔸ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพัฒนานโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม และข้อเสนอนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งการเติบโตและบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม

🔸สนับสนุนให้เกิดฐานกำลังคนสมรรถนะสูง รองรับการพัฒนาในอนาคต ผ่านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาและพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย

🔸ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก ด้วยการขับเคลื่อนการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก

🔸มุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ ด้วยการนำ อววน. มาหนุนเป้าหมาย GHG Net Zero รวมถึงการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน

🔸ปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยระบบบริหารจัดการภาครัฐและงบประมาณรูปแบบใหม่

ไปดูกันว่าในแต่ละผลงานจะมีความคืบหน้า หรือผลสำเร็จอย่างไรบ้าง

📌ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

🔸1. การพัฒนานโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม

🔹การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม และระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับกระทรวง อว. โดย สอวช. ได้พัฒนาแนวทางความร่วมมือและบูรณาการงานด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ที่ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทยในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาสังคมและยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณค่าทางสังคม สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศ

🔹การส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดย สป.อว. และ สอวช. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีแนวคิดจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์ สืบสานองค์ความรู้รากฐานศิลปะและวัฒนธรรมไทย และต่อยอดเพื่อผลิตและพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์

🔸2. ข้อเสนอนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งการเติบโตและบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม

🔹มาตรการและกลไกสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย โดย สอวช. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศไทย ผ่านมาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนหรืออุปสรรคต่อมาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงเสนอแนะแนวทางพัฒนานโยบาย และออกแบบสนามทดลอง (Sandbox) เพื่อทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยมากขึ้น

🔹การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม: Route 1 Innovation Economic Corridor โดย สอวช. ได้ทำการศึกษา และจัดทำข้อเสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยระบุอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ วัฒนธรรม (Cultural Industry) การศึกษา (Education Industry) และคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Economy) จัดทำแผนที่การกระจายตัวของกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งงานวิจัยนโยบายนี้ได้ถูกผลักดันสู่การกำหนดนโยบายระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงการริเริ่มโครงการนำร่องต่าง ๆ

📌ฐานกำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการพัฒนาในอนาคต

🔸3. พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

🔹แพลตฟอร์มบริหารจัดการการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิต และบริการ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ สป.อว. พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และทิศทางการลงทุนของประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนากลไกการผลิตกำลังคนแบบเฉพาะเจาะจง (Tailor-made) กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

🔹สนับสนุนมาตรการ Thailand Plus Package โดยในปี 2565 ได้รับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร และการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ แล้วกว่า 540 หลักสูตร จาก 52 หน่วยฝึกอบรม และรับรองการจ้างงาน จำนวน 1,741 ตำแหน่งงาน จาก 59 บริษัท มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 15,388 คน จาก 608 องค์กร รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน และบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) ขึ้นมาเพื่อให้บริการและให้คำแนะนำด้านการฝึกอบรมและการจ้างงานบุคลากรด้านสะเต็มด้วย

🔹แพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสาขาสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนท้องถิ่น (Talent Thailand Platform) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนากำลังคน และจัดทำแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Utilization Platform for National Talent Pool) ซึ่งในปี 2565 ได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านดนตรี 5 กลุ่ม ได้แก่ ดนตรีแจ๊ส ดนตรีพื้นเมืองสี่ภาคเเละชาติพันธุ์ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีสมัยนิยม และดนตรีไทย ซึ่งมีกำลังคนศักยภาพสูง 1,531 คน จากแขนงความเชี่ยวชาญ 33 สาขา สาขาความเชี่ยวชาญ 30 สาขา และความถนัดตามด้านดนตรี 30 สาขา

🔸4. การสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษา และพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย

🔹การจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) กระทรวง อว. โดย สป.อว. และ สอวช. ซึ่งในปี 2565 มีมติอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ และให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox จำนวน 4 ข้อเสนอ โดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมจำนวน 17,455 คน

🔹ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้ร่วมกับ มทร. จัดทำยุทธศาสตร์ พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่ม มทร.

🔹แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ. มรภ.) จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอนโยบายและข้อริเริ่มสำคัญของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคมและเศรษฐกิจ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นกำลังสำคัญของพื้นที่

📌ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก

🔸5. การขับเคลื่อนการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก

🔹สร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วมใน 3 พื้นที่นำร่อง จนได้ 3 ต้นแบบนโยบาย ได้แก่

ต้นแบบนโยบายกุดบากออนซอน ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนที่มีอาชีพเสริม สร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มครัวเรือนเป้าหมาย ผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่นต้นแบบนโยบายแก้ไขปัญหาความจนด้วยการพัฒนาและต่อยอดทักษะการประกอบอาชีพ (upskill/reskill) ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มุ่งเน้นการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเผยแพร่ให้แก่ชุมชน เพื่อพัฒนาต่อยอด ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ต้นแบบนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนดอยงามและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้างความเข้มแข็ง

🔹ต้นแบบข้อเสนอกลไกกองทุนพลังงานชุมชน (BCG Community Energy) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกของชุมชน โดยร่วมกับกระทรวงพลังงาน จัดทำข้อเสนอกลไกกองทุนพลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน/รายย่อย ผู้ประกอบการคนกลาง (Value-added Aggregator) หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน (Service Provider) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกได้ โดยลดการพึ่งพาจากภาครัฐ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกในระดับชุมชน และเพื่อประโยชน์ในการทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และเป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

📌ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ

🔸6. นำ อววน. หนุนเป้าหมาย GHG Net Zero

🔹จัดทำกรอบนโยบายระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2030 โดยมีข้อเสนอแนะทั้งกรอบยุทธศาสตร์เป้าหมายแผนที่นำทาง (Roadmap) การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 7 Flagship ที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

🔹จัดทำข้อเสนอการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้ไปสู่อุตสาหกรรม (EV Conversion Industrialization) ในรูปแบบต่าง ๆ และเกิดการผลักดันเชิงนโยบายในการใช้งาน EV Conversion โดยเริ่มจากการใช้ตลาดภาครัฐ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้ร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้ครอบคลุมประเภทของยานพาหนะให้กว้างขวางมากขึ้น

🔸7. การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน

🔹พัฒนากรอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบในการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง กลไก โดยเสนอการแก้ปัญหา และผลลัพธ์ของทางเลือกรูปแบบด้านการจัดการน้ำในด้านต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการกำกับโครงการการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

📌ปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

🔸8. ระบบบริหารจัดการภาครัฐและงบประมาณรูปแบบใหม่

🔹ข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) หรือ รวพ. เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ การสร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต การพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้ง ขับเคลื่อนและเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงระดมทุนจากบุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานอื่นเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม และการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคม

🔹ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณการอุดมศึกษาเพื่อสนองต่ออุปสงค์ (Demand-side Financing) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาระบบงบประมาณการผลิตและพัฒนากำลังคนในลักษณะ Demand-side Financing เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และนำผลมาพัฒนาเป็น “ข้อเสนอ (Roadmap) แนวทางการพัฒนาระบบการจัดสรรและบริหาร งบประมาณด้านการอุดมศึกษาแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์” โดยใช้หลักการ Demand-side Budgeting

เพราะทุกก้าวของประเทศสําคัญ เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลลัพธ์ ด้วยพลังจากนโยบาย อววน.

Tags:

เรื่องล่าสุด