(24 เมษายน 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ Climate Technology Centre and Network (CTCN) และ National Institute of Green Technology (NIGT) จัดงานสัมมนา “เส้นทางสู่ Green Hydrogen Technologies โดยกลไก Technology Mechanism ภายใต้ UNFCCC” ณ ห้องกมลมาศ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่ง สอวช. สามารถช่วยผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีทีที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศได้ในเชิงนโยบายและการเชื่อมต่อกับกลไกทางการเงิน โดยทำงานร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมาย และหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม คือเทคโนโลยีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hydrogen ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีแนวนโยบายในการใช้ประโยชน์จาก Green Hydrogen เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและภาคเอกชน มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลุ่ม Hydrogen Thailand ร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ แต่ปัจจุบันยังมีการผลิตไฮโดรเจนแบบไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ (Grey Hydrogen) การเปลี่ยนผ่านและการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยจึงต้องมีการศึกษาถึงแนวทาง ข้อดี ข้อเสียของแต่ละเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปใช้ Green Hydrogen ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด” ดร.กิติพงค์ กล่าว
งานสัมมนาในครั้งนี้ ยังได้มีการบรรยายถึง “โครงการแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen สำหรับประเทศไทย โดยกลไก Technology Mechanism ภายใต้ UNFCCC” โดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นการศึกษาเทคโนโลยี Green Hydrogen ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งในเชิงความพร้อมเทคโนโลยี ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen ของประเทศต่อไป และเป็นการทำงานกับเครือข่าย ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลไก Technology Mechanism ของ UNFCCC และดำเนินการโดยนักวิจัยนโยบายจาก NIGT
ในช่วงการบรรยาย ได้มีการแลกเปลี่ยนถึงการทำงานของ CTCN ในด้านกลไกทางเทคโนโลยีภายใต้ UNFCCC โดยตัวแทนจาก CTCN แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติกลไกเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงแบ่งปันแนวนโยบายการส่งเสริมไฮโดรเจนของประเทศไทย โดย ผู้แทนจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีเสวนา “The Future of Hydrogen in Thailand” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มจธ. ผู้แทน Hydrogen Thailand Club และ ผู้แทนจาก สผ.