messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » Future Food คืออะไร? ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและคว้าโอกาสอย่างไรให้ทัน

Future Food คืออะไร? ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและคว้าโอกาสอย่างไรให้ทัน

วันที่เผยแพร่ 26 เมษายน 2023 5551 Views

Future Food เทรนด์เขย่าวงการอาหาร ที่ผู้บริโภคต้องร้องว้าว และผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว คว้าโอกาสให้ทัน!

“อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” มีหลากหลายกว่าที่เราคิดและรู้จักกัน เราอาจจะคุ้นเคยกับอาหารอย่างกลุ่มโปรตีนจากพืช หรือ Plant based กันมาบ้างแล้ว แต่ยังมีอาหารแห่งอนาคตอีกหลายประเภทที่วันนี้จะพาผู้บริโภคไปรู้จัก และยังเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการด้านอาหาร ในการคว้าโอกาส และดำเนินธุรกิจให้ตรงใจกับผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตด้วย รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย

🔸 อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คืออะไร?

ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว มีประโยชน์ และปลอดภัยต่อสุขภาพ อีกทั้งยังรวมไปถึงอาหารที่มีแนวคิดตอบโจทย์ความยั่งยืน และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนในโลกยุคใหม่ ซึ่งการส่งออก Future Food ของไทย ในปี 2564 พบว่ามีมูลค่ารวมกว่า 94,000 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายในปี 2570 ว่าจะสร้างมูลค่าการส่งออกให้ได้ถึง 157,000 ล้านบาท

มารู้จักกับ Future Food แต่ละประเภท ว่ามีอะไรบ้าง?

🔹 Functional food

กลุ่มอาหารที่ประกอบไปด้วยสารสำคัญ หรือสารออกฤทธิ์ ที่มีทั้งคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐาน และมีส่วนช่วยป้องกัน รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกันปรับปรุงการทำงานของร่างกาย และชะลอการเสื่อมของอวัยวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยม และสามารถสร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกได้

🔹 Novel food (Plant based)

กลุ่มโปรตีนจากพืช และวัตถุดิบจากพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม และปรากฎหลักฐานทางวิชาการว่ามีการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี ในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ

🔹 Novel food (Insect Protein)

กลุ่มโปรตีนจากแมลง และวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม และปรากฎหลักฐานทางวิชาการว่ามีการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี ในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ

🔹 Novel food (Cultured Meat)

กลุ่มเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบด้วยการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ ด้วยเทคโนโลยี “Stem cell” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพเพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

🔹 Organic Food

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี เช่น ผักปลอดสารพิษ เนื้อสุกรที่เลี้ยงด้วยวีถีธรรมชาติ หรือนมพาสเจอร์ไรซ์ออร์แกนิก

🔹 Medical & Personalized Food

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม ที่มีโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาโรคเป็นการเฉพาะ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

🔸 ผู้ประกอบการ Future food ของไทย ต้องปรับตัว และคว้าโอกาสอย่างไรให้ทัน?

จากวิกฤตโควิด-19 สู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทย ส่งผลให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารในเชิงสุขภาพที่เป็นรูปธรรม และตอบโจทย์วิถีความยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการด้าน Future Food ในไทยจะคว้าโอกาสสำคัญนี้นั้น ต้องให้ความสำคัญดังต่อไปนี้

🔹 ผลิตภัณฑ์อาหารเน้นการแก้ปัญหาในเชิงป้องกันเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง

🔹 การเพิ่มความเข้มข้นของสารอาหารสำคัญเฉพาะด้าน และต้องมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมต่ำ

🔹 สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นโปรตีนที่ยั่งยืนมีคุณค่าสารอาหารได้ตามความคาดหวัง มีความปลอดภัย ราคายุติธรรม

🔹 การผลิต พัฒนา Functional Ingredient จากวัตถุดิบที่มาจาก Waste & Loss ในห่วงโซ่อุปทาน จะเป็นทางเลือกใหม่ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกและเป็นกระแสรักษ์โลก

🔸 สำหรับ สอวช. เองได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภาและคณะทำงานพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future food) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อน Future food ซึ่งในเบื้องต้นได้ระบุผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ Plant extract จากขมิ้นชัน ขิง ข่า ตะไคร้ ซึ่งมีตลาดส่งออกรองรับ และไทยมีความหลากหลายของ Bioresources มีงานวิจัยต้นน้ำของสารสกัดที่ทำมานานอย่างสมุนไพรขมิ้นชัน รวมถึงระบุผลิตภัณฑ์เป้าหมาย Nutraceutical จากกระชายดำสกัด Phytosterol จากข้าว และ β-glucans จากเห็ด ซึ่งมีตลาดส่งออกรองรับ อีกทั้งขมิ้นชันและกระชายดำไทยมีปริมาณ active ingredient สูงสุด ข้าวไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ และเห็ดมีต้นทุนการเพาะปลูกต่ำ ดูแลง่าย ให้ผลผลิตเร็ว และคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นต้น

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2565 สถาบันอาหารกระทรวงอุตสาหกรรม 2565 ศูนย์วิจัย KrungthaiCompass

เพราะทุกก้าวของประเทศสําคัญ เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลลัพธ์ ด้วยพลังจากนโยบาย อววน.

เรื่องล่าสุด