messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » มาถูกทาง! สอวช. เผยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ปี 2019 ไทยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดด แต่การลงทุนในภาคการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควร เชื่อการตั้งกระทรวง อว. เป็นตัวแปรตัวสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถไทยไปอีกขั้น

มาถูกทาง! สอวช. เผยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ปี 2019 ไทยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดด แต่การลงทุนในภาคการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควร เชื่อการตั้งกระทรวง อว. เป็นตัวแปรตัวสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถไทยไปอีกขั้น

วันที่เผยแพร่ 31 พฤษภาคม 2019 768 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากการเปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากสถาบัน IMD World Competitiveness Center ที่ได้เผยแพร่ลงในรายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2019 โดย 3 อันดับแรกของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งขยับสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 5 อันดับ นับว่าในภาพรวมประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ พบว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในปี 2019 อยู่ในอันดับที่ 38 ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 จะเห็นว่าประเทศไทยเคยรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 48 แต่สามารถกระโดดขึ้นมาได้สูงถึง 10 อันดับ ภายในระยะเวลาเพียง 2 – 3 ปี แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มจากร้อยละ 0.78 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2018 เป็นร้อยละ 1.00 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากภาคเอกชน นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าภาคเอกชนไทยมีความพร้อมเป็นอย่างมาก และจะยิ่งพัฒนาขึ้นไปได้อีกหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

สำหรับทางด้านการศึกษานั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 56 เท่ากับปีที่แล้ว ปัจจัยที่มีการพัฒนาดีขึ้น ได้แก่ จำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติ เพิ่มจาก 1.9 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2018 เป็น 4.8 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2019 แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ควรได้รับการพัฒนามากที่สุดคือ การลงทุนในภาคการศึกษา ซึ่งลดลงจากร้อยละ 3.8 ของ GDP ในปี 2018 เป็นร้อยละ 3.5 ของ GDP ในปี 2019

“จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดด แต่ทางด้านภาคการศึกษายังต้องการการพัฒนาที่มากขึ้น ดังนั้น การก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น นับเป็นความหวังที่จะนำการวิจัยและภาคการศึกษามาอยู่ใกล้ชิดกัน ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพัฒนาขึ้นไปได้” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด