messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. คิกออฟโครงการพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen ผ่านความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ปูทางประเทศไทยสู่การใช้เทคโนโลยีสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

สอวช. คิกออฟโครงการพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen ผ่านความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ปูทางประเทศไทยสู่การใช้เทคโนโลยีสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่เผยแพร่ 8 พฤษภาคม 2023 905 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเปิดโครงการแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen สำหรับประเทศไทย โดยกลไก Technology Mechanism ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สอวช. มีผู้เข้าร่วม ทั้งทีมวิจัยจาก National Institute of Green Technology หรือ NIGT จากสาธารณรัฐเกาหลี ตัวแทนจาก Hydrogen Thailand Club ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับนานาชาติ ซึ่งการนำไฮโดรเจนเข้ามาใช้ จะช่วยเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้ (decarbonization) โดย สอวช. ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network: CTCN) และ UNFCCC ในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen economy) เราจึงต้องหันมาดูสถานะของเรา รวมถึงทิศทางการดำเนินงานของเราในอนาคต ว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

การพูดคุยหารือกันในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องจากงานสัมมนา “เส้นทางสู่ Green Hydrogen Technologies โดยกลไก Technology Mechanism ภายใต้ UNFCCC” ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เชื่อมต่อเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ได้มีส่วนร่วมให้ข้อมูลและดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป การประชุมเปิดโครงการ จึงเป็นการร่วมหารือในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูล และขอข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด รวมถึงสร้างความร่วมมือการดำเนินงานในโครงการร่วมกับทุกฝ่าย โดยภายหลังจากการหารือแนวทางร่วมกัน จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม และมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีแนวทางในการขับเคลื่อนต่อและเกิดผลการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศ โดยผลที่ได้จากโครงการนี้จะเกิดเป็นร่าง Vision และ Roadmap การพัฒนาเทคโนโลยี Green Hydrogen ของประเทศ และร่างข้อเสนอสำหรับทุนสนับสนุนทุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ในการลงทุนโครงการด้าน Green Hydrogen และข้อมูลที่ได้จะสามารถนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาไฮโดรเจนร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สอวช. จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในทั้งประเทศและต่างประเทศ มีแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน รวมถึงแผนการลงพื้นที่ site visit ทั้งในประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี

เรื่องล่าสุด