messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมการประชุมประจำปี ESCAP สมัยที่ 79 แลกเปลี่ยนมุมมองของประเทศไทยในการเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สอวช. ร่วมการประชุมประจำปี ESCAP สมัยที่ 79 แลกเปลี่ยนมุมมองของประเทศไทยในการเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 19 พฤษภาคม 2023 1088 Views

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 79 (The 79th Session of the Commission: CS79) ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้แทนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในเอเชียและแปซิฟิก ผ่านการรายงานผลลัพธ์การประชุมในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินงานตามข้อมติต่าง ๆ และการดำเนินงานของคณะกรรมการและองค์กรระดับภูมิภาคภายใต้เอสแคป

ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สอวช. ได้เป็นผู้แทนกล่าวถ้อยแถลงในนามของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) และผู้แทนประเทศไทย แลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การค้า การลงทุน วิสาหกิจและนวัตกรรมทางธุรกิจ (Trade, investment, enterprise and business innovation)” โดยได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค องค์กรระดับโลกและระดับภูมิภาคจึงนำเอากลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศโลกมาใช้ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น Green Deal Pillar และ Climate-Smart Trade

สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการเป็นหลัก มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อทิศทางของโลก โดย กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานสำคัญที่ส่งเสริมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานความรู้ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในภาคธุรกิจ เห็นได้จากแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 กระทรวง อว. ได้ริเริ่มเครือข่าย Green Campus รวบรวมมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งปัจจุบัน Green Campus ได้พัฒนาเป็น เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand: SUN Thailand) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน SDGs ในมหาวิทยาลัยและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแบ่งปันความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยโดย กระทรวง อว. ยังได้สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งรวมเอาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางบรรลุ SDGs และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนให้กับภาคเอกชน มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ไทยตั้งเป้าไว้ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) โดย สอวช. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบาย BCG รวมถึงยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศกับ ESCAP และพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ 79 มีหัวข้อหลัก คือ “Accelerating climate action in Asia and the Pacific for sustainable development” โดยเปิดให้ประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหารือถึงทางเลือกเชิงนโยบายและโอกาสเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค โดยเฉพาะการกระตุ้นการเงินและการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีการจัดกิจกรรม Climate Solutions Fair เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ปัญหา สร้างปฏิสัมพันธ์ และขยายเครือข่ายกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในด้านการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในการดำเนินงานเพื่อบรรลุความมุ่งมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เรื่องล่าสุด