messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” มอบ สอวช. เป็นมันสมองขับเคลื่อนบริษัทฐานนวัตกรรม นำไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ย้ำ ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน ไทยมีโอกาสเปิดรับนักลงทุนด้านนวัตกรรมเพิ่มจากนานาประเทศ

“เอนก” มอบ สอวช. เป็นมันสมองขับเคลื่อนบริษัทฐานนวัตกรรม นำไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ย้ำ ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน ไทยมีโอกาสเปิดรับนักลงทุนด้านนวัตกรรมเพิ่มจากนานาประเทศ

วันที่เผยแพร่ 25 พฤษภาคม 2023 679 Views

(24 พฤษภาคม 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม โดยการประชุมมีการเสวนาในประเด็นนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐ (University Holding Company)

ดร.เอนก กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนธงจากประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำให้รัฐบาลมั่นใจว่า กระทรวง อว. จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะทำให้ประเทศสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) และต้องเดินสองขาคู่ไปกับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราต้องเสนอให้รัฐบาลตระหนักว่า อว. ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ หรือทำวิจัย แต่มีหน้าที่ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บนแพลตฟอร์มการพัฒนาบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Industry ด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สอวช. ที่ต้องเป็น Think tank เพื่อวางกรอบให้ชัด และเป็นหน่วยงานผู้นำทางความคิด ในฐานะคนทำนโยบาย  

รมว.อว. กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน หลายประเทศในแถบยุโรป อเมริกา แม้แต่ไต้หวันเอง ที่เคยมีฐานการผลิตและลงทุนด้านนวัตกรรม ในประเทศจีน ก็จะย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ด้วยความพร้อมทั้งภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่มีศักยภาพ ที่สามารถดำเนินการและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนได้ จึงถือเป็นโอกาสและแนวโน้มที่ดีของประเทศเรา

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ได้นำเสนอนโยบายส่งเสริม University Holding Company ต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศ นวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายเมื่อ 25 ธันวาคม 2563 โดยที่ประชุมเห็นชอบใน 3 เรื่อง คือ 1. การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งและดำเนินการนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company) ได้ตามกฎหมาย 2. การส่งเสริมด้านเงินทุนในการร่วมลงทุนของ University Holding Company   3. กระทรวง อว. ปรับปรุงระเบียบ ภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม 4. สภานโยบายส่งเสริมมหาวิทยาลัยสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในรูปแบบ Spin-off/Startup และ 5. การส่งเสริมให้ University Holding Company ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบทุนร่วมทุน

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ยังได้มีมติ เห็นชอบร่างแนวทางปฏิบัติ เพื่อการจัดตั้งและดำเนินการนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน ของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐ โดยแนวทางปฏิบัติกำหนดหลักการและแนวทางให้แก่ สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม โดยปัจจุบัน สามารถจัดตั้ง University Holding Company โดยสถาบันอุดมศึกษาแล้ว 6 แห่ง ซึ่ง Holding Company ดังกล่าวได้จัดตั้งและลงทุนในบริษัทลูกต่าง ๆ รวมอย่างน้อย 44 บริษัท เช่น บริษัท CU Enterprise จำกัด โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งบริษัทลูกเป็น Holding Company ของแต่ละคณะ เพื่อลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมที่เกิดจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของแต่ละคณะ และ บริษัท CU Enterprise จำกัด และศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ยังได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร University Holding Company Directorship Certification Program (UHCDP) เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้บริหารสำหรับการเป็นกรรมการใน Holding Company ที่เน้นบริหารการลงทุนในธุรกิจฐานนวัตกรรม

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนากำลังคนด้าน วทน. ไว้มาก หนึ่งในนั้นคืออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 5 แห่ง และจะเพิ่มแห่งที่ 6 คือที่ จ.นครราชสีมา โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เกิดขึ้นเป็นแห่งแรก ปัจจุบันพัฒนาได้ก้าวหน้ามาก สามารถยกระดับธุรกิจขนาดเล็ก จากรายได้ 1-2 ล้านเพิ่มเป็น 10 ล้าน และเป็นหลายร้อยล้านบาทได้ โดย Holding Company เป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนา IDE ซึ่งจากความพร้อมและศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ และบุคลากร จะช่วยทำให้เราไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่พ้นกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2580 ได้อย่างแน่นอน

“การที่เราตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวน IDE โดยพัฒนาผู้ประกอบการ 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีนั้น มีความเป็นไปได้สูง ดูจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีผู้ประกอบการที่ทำรายได้อยู่ในระดับ 200-300 ล้านบาท ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้หลายสิบราย ซึ่งหากผนวกกับผู้ประกอบการที่บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนผู้ประกอบการที่อยู่ภายนอกด้วยนั้น โอกาสที่จะเกิด IDE 1,000 ราย ที่มีค่าเฉลี่ยยอดขาย 1,000 ล้านบาทต่อราย เชื่อว่าเป็นไปได้สูงมาก” ดร.กิติพงค์ กล่าว

จากการผลักดันนโยบายของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้นำเอากลไก Holding Company ไปใช้ เพื่อนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยออกไปสู่การประกอบการ และการพัฒนาให้เกิด IDE เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ชื่อว่า บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด โดยสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทในปี 2560 และเริ่มตั้งบริษัทแรกในปี 2561 โดยรูปแบบการลงทุนในบริษัท มี 4 รูปแบบที่เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ 1) การลงทุนในบริษัทที่มีองค์ความรู้เฉพาะทาง 2) การลงทุน Joint Venture กับบริษัทมืออาชีพ 3) การแปลง ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) เป็นทุน 4) การลงทุนในบริษัทที่เป็น High potential startup และรูปแบบสุดท้ายที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการคือ การลงทุนในกองทุนอื่น ๆ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่เริ่มดำเนินการแล้ว 8 บริษัท อีก 2 บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการหารือ โดยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นของบริษัท อ่างแก้วฯ อยู่ที่ 1 ล้านบาท และในปี 2566 นี้ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 10 ล้านบาท

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี บริษัท CU Enterprise จำกัด จัดตั้งขึ้นเป็น Sandbox ของมหาวิทยาลัยเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา 2 ด้าน ด้านแรก คือการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาของจุฬาฯ มาใช้ในการสร้างสินค้าและบริการภายใต้ Holding company ส่วนที่สอง คือการบ่มเพาะ ให้เกิด spin-off โดยอาจารย์ หรือนิสิตของมหาวิทยาลัย สามารถนำงานผลงานวิจัยไปตั้งเป็นสตาร์ทอัพ บริษัทหรือสร้างธุรกิจ (enterprise) ได้ โดยในปัจจุบันได้บ่มเพาะผู้ประกอบการไปแล้ว 300 โครงการ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับดิจิทัล 200 โครงการ โครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง (deep tech) 100 โครงการ สร้างสตาร์ทอัพไปแล้ว 150 บริษัท และเป็น enterprise ในส่วนของอาจารย์อีกกว่า 50 บริษัท และในปี 2567 ยังได้ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาสตาร์ทอัพในกลุ่ม deep tech ให้ได้มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

เรื่องล่าสุด