messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. เดินหน้าปลดล็อกหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่มอีก 3 หลักสูตร ผลิตบัณฑิตรองรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมหนุนสร้างผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีและผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์

กระทรวง อว. เดินหน้าปลดล็อกหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่มอีก 3 หลักสูตร ผลิตบัณฑิตรองรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมหนุนสร้างผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีและผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์

วันที่เผยแพร่ 29 พฤษภาคม 2023 16031 Views

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญในการร่วมพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 3 หลักสูตร

ดร. เอนก กล่าวว่า ในปัจจุบันนวัตกรรมทางการอุดมศึกษาของประเทศไทยเริ่มขยายตัวดีขึ้น โดยอาศัย 2 แนวทางที่กระทรวง อว. สร้างขึ้นมาใหม่ แนวทางแรกคือ การจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ ทั้งหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์แล้ว และหลักสูตรอื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจส่งเข้ามาพิจารณาเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ รวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการที่มีคำว่า แซนด์บ็อกซ์ ขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสในการทำนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษาได้ แนวทางที่สอง คือการจัดตั้งธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เป็นการนำเอามหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของไทย ที่มีอาจารย์เก่ง ๆ และมีความรู้เชิงทฤษฎีมาจับคู่กับสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศกว่า 10 สถาบัน ที่มีความรู้ ผลงาน อันเกิดจากการทำงานวิจัยและงานสร้างสรรค์จริง ๆ รวมถึงมีเครื่องมือเข้ามาสนับสนุน โดยให้ทั้งสองส่วนมาสนธิกำลังกัน พัฒนาการอุดมศึกษา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก

“เราได้ปฏิรูปวิธีการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่สนใจ และเรียนอย่างสนุกสนาน ถ้าเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจไม่ว่าจะเป็นความรู้ในระดับสูงแค่ไหนก็จะตามไปศึกษาต่อได้เองทั้งหมด เชื่อมโยงกับการทำแซนด์บ็อกซ์ ต้องมองว่าการศึกษารูปแบบใหม่ที่คิดขึ้นมาจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษาได้อย่างไร เราอยู่ในระบบอุดมศึกษาแบบใหม่ ไม่ใช่เน้นแค่การวิจัย แต่จะต้องไปสู่การทำอาชีพได้จริงด้วย” ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดสำคัญของทั้ง 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีจุดเด่นที่ความร่วมมือกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้นตลอดกระบวนการ (Co-creation) เพื่อเน้นการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานในวิชาชีพ มีการจัดการเรียนรู้ทั้งในลักษณะ Module-based เรียนควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยผู้เรียนจะได้รับเงินเดือน และในลักษณะ Project-based ซึ่งมีการปฏิบัติงานจริงและแก้ไขปัญหาจริงในสถานประกอบการ ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่ปฏิบัติงานได้ทันทีและมีมาตรฐานสากลจำนวน 300 คน หลักสูตรที่ 2 คือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีจุดเด่นคือการสร้างผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Co-creation เรียนแบบ Module-based และฝึกปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมดำเนินธุรกิจจริงในช่วง 6 เดือนสุดท้าย และมีระบบพี่เลี้ยงดูแลและให้คำแนะนำนักศึกษาเพื่อให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและดำเนินธุรกิจได้จริง ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตผู้ประกอบการตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี 90 คน และหลักสูตรที่ 3 คือหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Active Cooperation เรียนแบบบูรณาการศาสตร์ จัดการเรียนการสอนแบบ Module-based ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพที่ประเทศจีน มีการค้นคว้าอิสระในรูปแบบการจัดทำและ Pitching แผนธุรกิจเวลเนสที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์และประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงการ รวมถึงมีระบบให้คำแนะนำผู้เรียนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Co-operative Coaching โดยผู้เข้าเรียนจะสามารถจบการศึกษาได้ภายในระยะเวลา 10 เดือน ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเวลเนส จำนวน 90 คน

รัฐมนตรี อว. ให้ความเห็นว่า หลักสูตรที่ทำเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า และการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งผลิตคนตอบความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้แนะให้กระทรวง อว. ช่วยต่อยอดโดยประสานกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ และภาคอุตสาหกรรม พัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่มเติม โดยต้องเน้นการผลิตคนให้ได้ปริมาณมากเพื่อให้ทันต่อความต้องการ ในส่วนของหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการต้องเน้นไปที่การใส่วัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการลงไปในหลักสูตร การลงมือปฏิบัติจริง ผู้ประกอบการต้องสร้างรายได้หรือทำให้ธุรกิจเติบโตได้จริงจึงจะถือว่าประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงการทำหลักสูตรให้คำนึงถึงความต้องการในฝั่งภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และต้องมองถึงการทำหลักสูตรในรูปแบบ Top down เพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนที่ประเทศต้องการอย่างแท้จริง อุดมศึกษาแบบจบไปมีงานทำและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ความเห็นถึงการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวง อว. อาจต้องจัดแพ็กเกจการสนับสนุนเรื่องนี้ เนื่องจากกระทรวงมีเครือข่าย มีบริษัทที่ทำงานร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียนการสอนให้เกิดผลจริงจึงต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ จะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนหลักสูตรที่จะสร้างผู้ประกอบการตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ (Expert) หรือ Manager ซึ่งอาจก่อตั้งเป็น Startup ลงไปตรวจสอบคาร์บอนเครดิตในโรงงานเนื่องจากในปัจจุบันยังขาดแคลนมาก โดยต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ รวมถึงหน่วยงานในประเทศ เช่น สมาคม RE100 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ สอวช. เอง และอีกส่วนหนึ่งคือต้องพัฒนากระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปที่อาจารย์เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นองค์ความรู้ใหม่และอยู่ในระดับสากล

นอกจากนี้ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ยังได้กล่าวถึงภาพรวมความก้าวหน้าการดำเนินการจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ มีข้อเสนอเชิงหลักการฯ ที่ส่งเข้ามาเพื่อพิจารณาเข้าเป็นหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์รวม 168 ข้อเสนอ ซึ่ง 150 ข้อเสนอนับเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 ที่ได้ปรับให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นแล้ว และมีข้อเสนอที่ได้รับการยกเว้นเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดและอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์โดยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องไปแล้ว 6 ข้อเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงรวม 18,955 คน ภายใน 10 ปี

เรื่องล่าสุด