ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวง อว. ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามคณะได้หารือความร่วมมือกับนายปีเตอร์ ม๊อก (Peter Mok) Head of Greater Bay Area ของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong Science and Technology Parks Corporation: HKSTP) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 26 พฤษภาคม 2566
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง หรือ HKSTP เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาใหญ่ที่สุดของฮ่องกง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and Technology: I&T) ในฐานะศูนย์บ่มเพาะบริษัทและ Startup ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของฮ่องกง ทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจใหม่ HKSTP มุ่งเน้นให้การวิจัยและพัฒนาในฮ่องกงมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมด้านพลังงาน และอื่น ๆ โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 300 แห่งในฮ่องกงที่ยังดำเนินงานอยู่ที่ได้ผ่านการเริ่มต้นจากการสนับสนุนของ HKSTP และมีบริษัทเทคโนโลยีในพื้นที่กว่า 1,000 ราย จึงนับเป็นศูนย์รวม startup และบริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากที่สุดแห่งหนึ่ง HKSTP ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจและนักวิจัยในการทำงานและพัฒนานวัตกรรมในฮ่องกง ซึ่งรวมถึงพื้นที่สำหรับการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยี สถานที่สำหรับการบริการและสนับสนุนธุรกิจ ห้องปฏิบัติการและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ทั้งนี้ HKSTP จะดำเนินการสนับสนุนนักวิจัยหรือผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตั้งแต่ขั้นริเริ่มพัฒนาธุรกิจจากผลงานวิจัยและพัฒนา หรือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการทดสอบแผนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงบริษัทและ startup เข้ากับนักลงทุนและช่องทางการระดมทุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทที่อยู่ภายใต้การบ่มเพาะของ HKSTP ด้วยกันเองเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้เติบโต
ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการสร้างระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การเชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมและ startup ของไทยกับ HKSTP รวมถึงแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอย่าง Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ การสื่อสารและโทรคมนาคม และเทคโนโลยีชีวภาพ
นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำและหารือแลกเปลี่ยนร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีและ startup ที่อยู่ในการสนับสนุนของของ HKSTP เช่น Codex ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ในการการดูแลสุขภาพ SquareDog Robotics บริษัทผลิตหุ่นยนต์เพื่อการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ Integrated Solutions บริษัทที่ช่วยองค์กรและ SMEs ในการทำ Digital transformation รวมถึง Ksher บริษัทฟินเทคด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีการยืนยันตัวตน หรือ KYC (Know Your Customer) จากประเทศไทย พร้อมกันนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของศูนย์ Advanced Biomedical Instrumentation Centre (ABIC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮ่องกง (Hong Kong University) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านชีวการแพทย์ขั้นสูงไปสู่โซลูชั่นด้านการดูแลสุขภาพ