ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารกระทรวง อว. ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าเยี่ยมชมและหารือความร่วมมือกับบริษัท DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่โลก UBTech ยูนิคอร์นด้านหุ่นยนต์ และ BGI Group ผู้นำด้านจีโนมิกส์ณ นครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงเมือง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2566
โดยคณะได้เข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมโดรนและหารือความร่วมมือกับบริษัท Da-Jiang Innovations Science and Technology (DJI) ผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีโดรนรายใหญ่ของโลก ณ “ดีเจไอ สกาย ซิตี” (DJI Sky City) สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในนครเซินเจิ้น DJI ได้นำเสนอแนวทางของบริษัทสำหรับธุรกิจโดรนระดับโลก ซึ่งอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนของ DJI ขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นที่แพร่หลาย มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีโดรนที่สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการดำเนินงานของ DJI ในไทย โดยเฉพาะด้านโดรนการเกษตรที่ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง DJI ได้มีการทำงานร่วมกับเกษตรกรไทย เพื่อรับข้อคิดเห็นจากเกษตรกรเพื่อนำกลับไปปรับปรุงเทคโนโลยีด้านโดรนเกษตรให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยโดรนเกษตรเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงาน เช่น การฉีดพ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ลดการใช้แรงงาน ลดระยะเวลาการทำงาน ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน และยังมีระบบและโซลูชั่นที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการ วางแผนและคาดการณ์การผลิตได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ ในท้องถิ่น เช่น นักบินโดรน หรือ ผู้รับจ้างบินโดรน เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางร่วมกันในการพัฒนากำลังคนด้านโดรน ทั้งนักบินโดรนและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยีในการช่วยให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพ รวมถึงแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้งานโดรนสำหรับภารกิจต่างๆ
และคณะได้เข้าเยี่ยมชมและหารือร่วมกับบริษัท UBTech Robotics สตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” ของจีนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นบริษัทชั้นนำในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพที่สูง และหุ่นยนต์ที่พัฒนามาจากพื้นฐานร่างกายมนุษย์ หรือ Humanoid Robots ธุรกิจหลักของ UBTech ประกอบไปด้วยหุ่นยนต์และโซลูชั่นในด้านการศึกษาและเสริมทักษะการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ด้านการดูแลผู้สูงอายุและไลฟ์สไตล์ที่สามารถช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ด้านการบริการลูกค้า และหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดย UBTech ได้รับการจัดเป็นอันดับที่ 1 ของด้านการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ของประเทศจีนในปี 2564 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการจัดการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนการจัดตั้ง AI Education Labs/Centers ร่วมกับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมธนาคารยีนแห่งชาติของจีน หรือ China National GeneBank (CNGB) ซึ่งเป็นคลังเก็บยีน 3 คลัง ได้แก่ คลังเก็บตัวอย่างทางชีวภาพและความหลากหลายทางพันธุกรรม คลังเก็บฐานข้อมูลชีวสารสนเทศศาสตร์ และคลังเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต โดยมีระบบการทำงาน 2 แพลตฟอร์ม คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์มและแพลตฟอร์มการตัดต่อพันธุกรรมสัตว์ และได้หารือความร่วมมือกับบริษัท BGI Group ผู้นำด้านจีโนมิกส์ของจีน ซึ่งมีแผนในการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลด้านการตรวจสอบถอดรหัสพันธุกรรมของประชากรทั่วโลกให้ได้ 1% หรือคิดเป็น 1,000 ล้านคนทั่วโลก เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาแนวทางป้องกันและการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ และมุ่งเน้นนำความรู้และเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์มาใช้ประโยชน์พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น โดย อว. ได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนด้านจีโนมิกส์ผ่านการดำเนินงาน Joint-Education Project, Joint Talent Training Programs, ICG-18 Youth Symposium and Summer Workshop และความร่วมมือด้านจีโนมิกส์และการวิจัยกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทย เช่น STMmics และ Genomics Thailand Research Labs