messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ระบุ 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ช่วยผลักดันให้ไทยเกิดการลงทุน R&D – ชี้ “รัฐ” ควรลงทุนวิจัยและพัฒนา ไม่ต่ำกว่า 51,000 ล้านบาท/ปี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายพาประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

สอวช. ระบุ 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ช่วยผลักดันให้ไทยเกิดการลงทุน R&D – ชี้ “รัฐ” ควรลงทุนวิจัยและพัฒนา ไม่ต่ำกว่า 51,000 ล้านบาท/ปี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายพาประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

วันที่เผยแพร่ 10 กรกฎาคม 2023 810 Views

ตามที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การสำรวจค่าใช้ด้านการวิจัยและพัฒนาเกิดการชะลอตัวลงเล็กน้อย พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) ของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.21 (จากเดิม 1.33) โดยมีค่าใช้จ่าย R&D ในภาพรวมอยู่ที่ 195,570 ล้านบาท (จากเดิม 208,010 ล้านบาท) มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 5.98 เป็นค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชน 144,887 ล้านบาท (จากเดิม 141,706 ล้านบาท) และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) 50,683 ล้านบาท (จากเดิม 66,304 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 74 : 26 ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนด้าน R&D ในภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ความเห็นต่อผลสำรวจดังกล่าวว่า ปีนี้ตัวเลขค่าใช้จ่าย R&D ลดลง เหลือร้อยละ 1.21 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าควรจะเป็นร้อยละ 1.37 โดยมาจากการลงทุนภาครัฐบาลที่น้อยลง ส่วนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดี  

“หากเรามองเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาเดิมที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ภายในปี 2570 เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยคงเป้าหมายสัดส่วนการลงทุน ภาครัฐ : ภาคเอกชน เป็น 30 :70 และเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เป็น 30 FTE ต่อประชากร 10,000 คน จากสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่ลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สอวช. ประเมินว่า หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในปี 2570 สัดส่วนการลงทุน R&D ของไทยจะอยู่เพียงร้อยละ 1.67 ต่อจีดีพี เท่านั้น แต่หากจะรักษาเป้าหมายร้อยละ 2 ต่อจีดีพี รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการผลักดันการลงทุนด้าน R&D เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยมีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนรวมด้าน R&D โดยต้องเพิ่มตัวเลขการลงทุนจากภาครัฐอีกประมาณ 305,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 51,000 ล้านบาท และจะต้องรักษาระดับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ ในการเร่งรัดการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สอวช. อยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (รวพ.) ซึ่งจะเป็นจุดหนึ่งที่จะช่วยให้การใช้จ่ายด้าน R&D ของภาครัฐเติบโตขึ้น รวมถึงยังส่งผลดีในทางเศรษฐกิจด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ควรเน้นการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยไทยเรามีจุดเด่นที่สามารถสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงุทนวิจัยและพัฒนาได้ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแห่งอนาคต (Future Food) กำลังเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตา เพราะมีอัตราการการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้แบ่งอาหารแห่งอนาคตออกเป็น 1. อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food และ Food Ingredients)  2. กลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food) ได้แก่ กลุ่ม Plant-based Protein กลุ่ม Insect Protein และกลุ่มเนื้อเพาะเลี้ยง (Cultured Meat) 3. Organic Food และ 4. กลุ่มอาหารทางการแพทย์ (Medicinal Food) เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งในปี 2564  Future Food มีมูลค่าตลาดโลกมากกว่า 13 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุดคือ กลุ่มออร์แกนิคและ Functional Food ที่มีส่วนแบ่ง 70% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มอาหารใหม่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างก้าวกระโดดที่ 30-100% และในปี 2565 ไทยส่งออกอาหารอนาคตมีมูลค่า 128,688 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตสูงโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19ที่มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี และ สอวช. คาดการณ์เป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 ปี จะเพิ่มการส่งออกของ Future Food ให้ได้ 260,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี พ.ศ. 2570 คาดว่าจะมีการลงทุน R&D ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น และประเทศไทยต้องการให้มีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่นักลงทุนจีนและนักลงทุนจากประเทศอื่นที่ต้องการขยายฐานการผลิตไปในประเทศอื่นเพื่อลดความเสี่ยงด้านปัญหาการขาดแคลนของชิ้นส่วนจากห่วงโซ่มูลค่าโลกหรือจากปัญหาสงครามการค้าโลก ภาครัฐจึงถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตรถ EV ไทยให้ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’ คาดว่าจะมีการประกาศการลงทุนของทั้งจากบริษัทไทยและบริษัทจากต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานประกอบแบตเตอรี่แพ็ค โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ในอนาคต

ส่วนในกลุ่มแอดวานซ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่ง สอวช. จะเน้นเข้าไปส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การลงทุนและความต้องการของประเทศ เนื่องจากเรามีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ขณะเดียวกันเราได้ดำเนินโครงการ Higher Education Sandbox หรือ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนแบบใหม่ รองรับอุตสาหกรรมใหม่ หลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตั้งเป้าผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมกว่า 1,200 คน ซึ่งหลักสูตรนี้มีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนกว่า 40 ราย เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการวิชาชีพและออกไปประกอบอาชีพได้จริง

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการกระตุ้นการลงทุน R&D ในไทยได้คือ Climate Technology ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) การใช้ทรัพยากรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) การจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศคู่ค้าของไทย เป็นต้น ซึ่งเมื่อมองถึงภาครายได้ ก็มีแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม โครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ทางเลือก เทคโนโลยีสะอาด (Clean Tech) เพื่อดักจับคาร์บอน รวมทั้งการใช้และจัดเก็บ (Carbon Capture, Use & Storage) การจัดการขยะให้นำกลับใช้ใหม่ (Circular Waste Management) การจัดการขยะให้นำกลับใช้ใหม่ (Circular Waste Management) ฯลฯ เป็นต้น

ดร.กิติพงค์ ยังได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการวางนโยบายของ สอวช. ที่จะช่วยตอบโจทย์การผลักดันให้การลงทุน R&D ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปช่วยขับเคลื่อน อาทิ นโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-driven enterprises: IDE) 1,000 ล้านบาท 1,000 ราย ภายในปี 2570 ทั้งการพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความรู้ รวมถึงเครือข่ายการทำงาน ซึ่งหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเพื่อไปถึงเป้าหมายได้ คือ การร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบของนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน หรือ Holding Company หน่วยธุรกิจที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐเพื่อทำหน้าที่บริหารการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ โดยบริหารการลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยออกไปจัดตั้งธุรกิจ (Spin-off) และลงทุนในงานวิจัยของผู้ประกอบการรายใหม่ให้ขยายผลและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับการสนับสนุนทางการเงินได้อย่างคล่องตัว ซึ่ง สอวช. ได้เข้าไปจัดทำนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company จัดทำแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company รวมถึงอยู่ระหว่างจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้าน E-Commercial & Innovation Park หรือ ECIP เป็นการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์หรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเจาะตลาด และการพัฒนาและผลิตสินค้าสำหรับการค้าขายภายในประเทศและการส่งออกครบวงจร ตลอดจนมาตรการ Thailand Plus Package ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM 1.5 เท่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม 2.5 เท่า ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองของกระทรวง อว. ซึ่งล่าสุดผ่านการรับรองแล้วกว่า 400 หลักสูตร มีสถานประกอบการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมแล้วกว่า 450 แห่ง และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมกว่า 14,000 คน

ดร.กิติพงค์ ยังได้ยกประเทศเกาหลีใต้ ให้เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการลงทุน R&D ของไทย โดยให้เหตุผลว่า เกาหลี เป็นประเทศที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.81 ซึ่งเกาหลีเริ่มลงทุนตั้งแต่อุตสาหกรรมเบาไปจนถึงอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และปัจจุบันเกาหลีโดดเด่นด้านการลงทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ส่วนของประเทศไทยมีการลงทุน R&D ในอุตสาหกรรมเบา และปิโตรเครมี และเริ่มมาทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันที่เราได้ขยับไปคือ กลุ่มแอดวานซ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องให้มีการพัฒนาให้อยู่ในประเทศเรามากขึ้น ขณะเดียวกันเราจะผลักดันให้อุทยานวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเติบโต ส่วนผลิตภัณฑ์ชุมชน ก็อาจจะเป็นในรูปแบบเทรดเดอร์ ซึ่งทำให้ทุกระดับสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวทิ้งท้ายถึง ข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะสามารถช่วยผลักดันให้ไทยเกิดการลงทุน R&D และนำไปสู่การพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ผ่าน 4 ข้อเสนอ คือ 1. ภาครัฐต้องเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุน R&D และรักษาระดับการลงทุนให้ไม่ลดจากเดิม ขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่จะช่วยรักษาการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนควบคู่กันไป 2. ส่งเสริมการสร้างกำลังคนให้เพียงพอที่จะทำเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อรองรับการลงทุนจากภาคเอกชน 3. ยกระดับการลงทุนในอุตสาหกรรมฐานความรู้ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต อาทิ Climate Tech, EV และ Future Food เป็นต้น และ 4. ขยายฐานผู้เล่นใหม่ ๆ ในภาคเศรษฐกิจ เช่น สตาร์ทอัพ และสปินออฟเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย โดยมีกลไก University Holding Company เข้ามาส่งเสริม ตลอดจนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานต้นแบบ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้

เรื่องล่าสุด