messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมการสำรวจเส้นทางเขตการค้าเสรี (Logistic Free Trade Zone) และการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) รูปแบบการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สอวช. ร่วมการสำรวจเส้นทางเขตการค้าเสรี (Logistic Free Trade Zone) และการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) รูปแบบการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่เผยแพร่ 18 กรกฎาคม 2023 635 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ ผศ.ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์สังกัดสำนักวิชานวัตกรรมดิจิทัล และเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามคณะได้ร่วมการสำรวจเส้นทางเขตการค้าเสรี (Logistic Free Zone) และการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) รูปแบบการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม ณ นครเซี่ยงไฮ้ เมืองบ่อหาน และนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 3-8 กรกฎาคม 2566

ณ นครเซี่ยงไฮ้ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมกับคณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมหารือกับ Shanghai Outstanding Contribution Expert Association จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1993 เป็นเครือข่ายรวบรวมนักวิชาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และบุลคลากรระดับสูงที่มีผลงานและศักยภาพโดดเด่นในเซี่ยงไฮ้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวิชาการและองค์ความรู้ต่าง ๆ การอบรมพัฒนาผู้มีศักยภาพ การให้คำปรึกษาด้านองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระหว่างเครือข่าย ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมความร่วมมือในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี-แม่น้ำโขง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนร่วมกัน และเป้าหมายการพัฒนาของ 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงและ 6 มณฑลลุ่มแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน ในความร่วมมือนั้นมีเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการหลัก คือ การนำการศึกษาเป็นตัวนำในการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือผ่านกิจกรรมการอบรมพิเศษในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ประการที่สอง ความร่วมมือผ่านการนำเข้าส่งออกของประเทศจีนและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านการจัดงานมหกรรมที่สำคัญ และประการสุดท้ายคือการส่งเสริมความร่วมมือผ่านกิจกรรมใหม่ ๆ ระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มณฑลในลุ่มแม่น้ำแยงซี และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative)

ในการสำรวจดังกล่าว คณะดูงานได้เยี่ยมชม Shanghai Zhangjiang High-tech Industrial Development Zone เป็นเขตพื้นที่พัฒนาที่มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และอุตหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยคณะได้เยี่ยมชมผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ทั้งหมด 2 บริษัท บริษัทแรก คือ MicroPort Group ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องมือทางการแพทย์ที่ก่อตั้งมากว่า  25 ปีในพื้นที่การพัฒนานี้ ที่มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเครื่องมือการแพทย์ รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ ด้วยปณิธานที่จะนำเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไข้และผู้ป่วย บริษัทถัดมาคือ Origincell Technology Group Co., Ltd ที่เป็นเครือข่ายธนาคารเซลล์ที่สำคัญของประเทศจีน ให้บริการตั้งแต่การจัดเก็บเซลล์ ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงเซลล์ โดยทั้งสองบริษัทมีลักษณะคล้ายคลึงกันที่น่าสนใจ คือ การบ่มเพาะผู้ประกอบการและให้บริการความรู้ด้านธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันให้เติบโต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่คณะ ฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการประยุกต์กลไกดังกล่าวกับนโยบายการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยในอนาคต

ถัดมาคณะดูงานได้ฟังการบรรยายจาก Mr. SUN He จาก Bosch Group ในหัวข้อ Bosch S-3 Digital Academy โดยได้กล่าวถึงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) ที่ยกตัวอย่างบริษัท Start-up ที่ประสบความสำเร็จภายใต้การบ่มเพาะของ Bosch Group อย่าง Ziyun IoT ที่ให้บริการ Digital Transformation แก่โรงงานการผลิตต่าง ๆ ให้้สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น และบริษัท Match Box ที่ให้บริการด้านการตลาด โดยใช้หลักการ co-creation model ที่จะปลุกปั้นแบรนด์สินค้าที่เริ่มต้นจากศูนย์ให้ประสบความสำเร็จด้านการตลาด นอกจากนี้ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ฯ และ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้หารือร่วมกับ Mr. SUN ถึงความร่วมมือในหลักสูตร Digital Talent Academy ในการบ่มเพาะบุคลากรที่มีศักยภาพสูงไปสู่ผู้ประกอบการนวัตกรรม โดยหลักสูตรดังกล่าวสามารถปรับแต่ง (Tailored Modules) ให้ตรงกับความต้องการด้านบุคลากรในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงได้เสนอ Cross-border E-commerce Training สำหรับการร่วมกับวิทยาลัย ฯ และ สอวช. ในอนาคต เพื่อมุ่งหวังที่จะบ่มเพาะผู้ประกอบการการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในนักศึกษา และกิจกรรมแข่งขัน Large Language Model (ChatGPT) ในประเทศไทยเพื่ออบรมและค้นหาทีมสุดยอดของการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาและคิดค้นโมเดลธุรกิจและนวัตกรรม โดยมีโจทย์จากบริษัทรายใหญ่ใน Fortune 500 Companies มาเป็นโจทย์ที่ผู้แข่งขันต้องแก้ปัญหา และทีมผู้ชนะการประกวดจะได้รับโอกาสเข้าฝึกงานกับบริษัทรายใหญ่อีกด้วย

ในการสำรวจเส้นทางเขตการค้าเสรคณะเดินทางได้เยี่ยมชมเขตการค้าเสรีในเขตบ่อหาน-บ่อเต็น ในเมืองบ่อหาน มณฑลยูนนาน ชายแดนทางใต้ของสาธารณประชาชนจีน และมีอาณาเขตติดกับเมืองบ่อเต็น สาธารณรัฐประชาชนลาว เขตพื้นที่ดังกล่าวมีขนาด 21 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ของทั้งสองประเทศดังกล่าวซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นเขตการค้าเสรี เขตปลอดภาษีและวีซ่าที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนในอนาคต ในการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างในพื้นที่่จะเปิดใช้บริการในปลายปี 2566 โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในการเยี่ยมชม ผู้อำนวยการ สอวช. ได้หารือกับทางคณะกรรมการบริหาร Mohan Border Trade Zone ถึงสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนผ่านเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน ในชายแดนเมืองบ่อหาน ซึ่งประกอบไปด้วยการขนส่งผ่านทางถนนและทางราง โดยสินค้าที่ขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าว ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด ยางพารา และสินค้าค้าปลีกอื่น ๆ จากประเทศไทย และได้หารือในประเด็นต้นทุนค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น มาตรฐานตู้ที่ใช้ในการขนส่งทางรางของจีนกับของไทยไม่เท่ากันจึงทำให้ต้องมีการย้ายตู้ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน และทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการขนส่งนานขึ้นด้วย อีกทั้ง จากการสำรวจพื้นที่ Custom Clearance ในเมืองบ่อหานยังค้นพบว่า บริษัท Logistic ที่ให้บริการส่งสินค้าปลีกมาสู่ประเทศจีนนั้น ยังคงมีการแข่งขันแบบน้อยราย จึงเป็นอีกปัจจัยอุปสรรคหนึ่งต่อการขนส่งสินค้าจากไทยในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำคณะดูงาน สอวช. เข้าเยี่ยมชม Kunming High-tech Industrial Development Zone ซึ่งเป็นเขตพื้นที่กำลังพัฒนาของประเทศจีนที่มีความโดดเด่นทางด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องมือมือทางการแพทย์ โดยได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทที่โดดเด่นในพื้นที่ 2 บริษัท คือ Yunnan Botanee Biotechnology Group Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องสำอางระดับต้นของมณฑลยูนนาน ที่สินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานระดับประเทศและวางขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลายของจีน โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรจีนอย่าง ใบจากต้นคุณนายตื่นสาย (portulaca oleracea) ดอกคามิเลียยูนนาน และพืชไม้ดอกยูนนาน โดยมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีการสกัดขั้นสูงเพื่อให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ อีกบริษัทหนึ่งที่คณะ ฯ เยี่ยมชม คือ Yunnan Marvel Additive Manufacturing Technology Co.Ltd. ที่ให้บริการด้านการพิมพ์สามมิติครบวงจรทั้งแบบภาพจำลองสามมิติและสิ่งพิมพ์สามมิติ โดยเทคโนโลยีดังกล่าว บริษัทได้นำมาประยุกต์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่มีความโดดเด่นในมณฑลยูนนาน โดยมีการประยุกต์ใช้ 3 วิธี ประการแรก คือ เพื่อจำลองร่างกายคนไข้ในการวินิจฉัยรักษาโรค ประการที่สอง คือ เพื่อพิมพ์ชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะในร่างกายคนไข้ อาทิ กระดูก และอุปกรณ์ชิ้นส่วนรักษาต่าง ๆ และประการสุดท้าย คือ การจำลองเพื่อทดลองการผ่าตัดคนไข้ที่สามารถลดอัตราความผิดพลาดในการผ่าตัด จากนั้น ทางคณะกรรมการบริหาร Kunming High-tech Industrial Development Zone ได้หารือร่วมกับคณะ สอวช. ถึงวิวัฒนาการ และการพัฒนาพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม โดย Kunming High-tech Industrial Development Zone เป็นพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงระดับชาติที่แรกของมณฑลยูนนานที่มีความเชื่อมโยงกับเขตนวัตกรรมและเขตการค้าเสรีมณฑลยูนนาน โดยมีพื้นที่ 3 เขตหลักคือ พื้นที่เขตตะวันตก พื้นที่เขตตะวันออก และอุทยานวิทยาศาสตร์เอกชน โดยในพื้นที่มีรายได้กว่า 3 แสนล้านหยวน ทั้งนี้ในการหารือดังกล่าว ทาง สอวช. และคณะกรรมการบริหารมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีความร่วมมือกันระหว่างพื้นที่ในอนาคต เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการจากประเทศไทยและ Kunming High-tech Industrial Development Zone

เรื่องล่าสุด