messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการ MSME ผ่านกลไกบ่มเพาะจากอุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมแนวทางสนับสนุนทุนและสิทธิประโยชน์

สอวช. เผยนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการ MSME ผ่านกลไกบ่มเพาะจากอุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมแนวทางสนับสนุนทุนและสิทธิประโยชน์

วันที่เผยแพร่ 21 กรกฎาคม 2023 776 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดงานสัมมนา ในหัวข้อ “Strengthen Science Park to e-Commercial Park for supporting MSMEs Growth: อุทยานวิทยาศาสตร์สู่การเป็น E-Commercial and Innovation Park เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ในงาน Mega Show Bangkok 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2566 ณ ไบเทค บางนา

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ในแง่ของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 7,500 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปี และหากต้องการหลุดพ้นจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง ประชากรจะต้องมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 12,500 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปี สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายได้คือการทำนวัตกรรม และการนำสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาด ซึ่งอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่จะช่วยนำสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมออกไปขายได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพค่อนข้างสูงในการพัฒนานวัตกรรม เมื่อดูจากการจัดระดับคะแนนด้านนวัตกรรม ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ดำเนินการได้เกินกว่าที่คาดหวัง (Performing above Expectation) เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน ไทยจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นประเทศนวัตกรรม ในส่วนของการให้ทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ พบว่าสัดส่วนการให้ทุนเติบโตขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงมองเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises: IDEs) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐานในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย สอวช. ขับเคลื่อนการสนับสนุนด้านนโยบายในหลายส่วนสำหรับกลุ่ม IDEs ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนเรื่องกำลังคนที่มีศักยภาพ มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านการจ้างงานกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้จัดตั้ง Innovation Club Thailand ขึ้นมา ซึ่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทขนาดใหญ่ จะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในการดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงยังมีแนวทางช่วยผู้ประกอบการในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศด้วย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรายังได้พัฒนาให้เกิดอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ปัจจุบันมี 6 แห่งในประเทศไทย ภายในอุทยานฯ มีศูนย์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการทำวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม ทำต้นแบบของสินค้านวัตกรรม แล้วนำต้นแบบนั้นมาผลิตในอุทยาน ฯ ซึ่งในอุทยานฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบตรวจสอบมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการ ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ ที่จะช่วยสนับสนุนกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ หรือบริษัท ให้ได้เข้ารับการบ่มเพาะ ช่วยในการพัฒนาสินค้า และในปีนี้ได้มีแนวทางที่จะริเริ่ม เชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าสู่ตลาด มองในเรื่องการนำสินค้าและบริการออกสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น

สอวช. ยังได้ตั้งเป้าพัฒนา IDEs ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย โดยมีนโยบายหลายส่วนเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิด University Holding Company ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัย ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย มีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม ส่วนอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกับอุทยานฯ มากกว่า 50 มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีหน่วยบ่มเพาะด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่ได้รับการบ่มเพาะไปแล้วมากกว่า 600 บริษัทที่อยู่ในเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประเทศไทยยังมีศักยภาพในเรื่องของ digital creative content เรามีห้องปฏิบัติการ digital creative content ห้องปฏิบัติการด้านการทำสื่อหลายแห่งในประเทศ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่พร้อมรองรับ อีกทั้งยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ที่เราต้องการยกระดับพวกเขา ในการผลิตผลงานที่มีความสร้างสรรค์

ในปีนี้รัฐบาลยังเตรียมจะจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนหน่วยใหม่ขึ้น ที่จะให้ทุนด้านนวัตกรรมให้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มีการปรับรูปแบบการให้ทุนให้สอดคล้องกับขนาดของโครงการ หากเป็นโครงการขนาดใหญ่  อาทิ โครงการที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ต้องการการทดสอบในหลายขั้นตอนก็สามารถปรับการให้ทุนให้ตามความเหมาะสมได้ ถือเป็นแนวทางใหม่ของรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม

อีกทั้งยังมีแนวทางในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม digital economy ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ ช่วยอุทยานฯ ในการนำสินค้านวัตกรรมเข้าสู่ตลาด อยู่ในระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา โดยพยายามจะเชื่อมโยงกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีข้อเสนอ e-commercial & innovation platform หรือ ECIP เป็นการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์หรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเจาะตลาด และการพัฒนาและผลิตสินค้าสำหรับการค้าขายภายในประเทศและการส่งออกแบบครบวงจร

เรื่องล่าสุด