สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงาน Plant-Based Food Roundtable: ขับเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรม Plant-based food เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 ชั้น 14 สอวช. และผ่านระบบออนไลน์ โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่อง plant-based กันมาแล้วระยะหนึ่ง สิ่งสำคัญที่อยากเห็นคือ การยกระดับอุตสาหกรรมนี้ขึ้นไป จากศักยภาพของไทยที่สามารถขับเคลื่อนได้ ต้องมองไปถึงแนวทางที่จะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytic) เพื่อให้เห็นความต้องการของผู้บริโภคหรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายคือการส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยในเชิงนวัตกรรม สอวช. จะทำในเชิงการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ (strategic direction) ว่าควรจะเดินไปในทิศทางไหน ควรให้ความสำคัญกับอะไร ซึ่ง สอวช. เป็นหน่วยงานที่จะสามารถเข้าไปช่วยประสานงานเชิงนโยบายได้

“การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ จะช่วยให้ทีมงาน สอวช. ได้ข้อมูลไปประสานต่อในเชิงนโยบายกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เข้าร่วมการหารือสามารถเป็นกลุ่มสมาชิกในคลัสเตอร์เริ่มต้นที่จะขับเคลื่อนในเรื่อง plant-based ได้ ซึ่งคลัสเตอร์ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะต้องมองทิศทางเชิงกลยุทธ์ในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานและการขับเคลื่อนมีความเชื่อมโยง มีน้ำหนัก และสร้างผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นตามมา” ดร.กิติพงค์ กล่าว

การสร้างคลัสเตอร์ขึ้นมา ต้องหาตัวแทนมาเป็นคณะทำงานและมีตัวกลางช่วยอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนองคาพยพนี้ต่อไป โดยอาจกำหนดให้มี cluster manager เพื่อช่วยหาทุนพัฒนาด้านนวัตกรรม และต่อยอดไปถึงการผลิตและออกไปสู่ตลาดจริง ส่วนของแนวทางการดำเนินงาน ในประเทศไทยมีระบบการให้ทุนอยู่แล้ว แต่ต้องริเริ่มจากการพัฒนาข้อเสนอที่ดี เพื่อนำไปพิจารณารับทุน การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ หรือ consortium จะทำให้มีโอกาสเชื่อมโยงกลุ่มนักวิจัยเข้ากับกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกันได้


ทั้งนี้ ในงานยังได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะส่งออก plant-based food ได้มากขึ้น และกลายเป็น new growth engine ของประเทศไทยได้จริง?” มีผู้ร่วมให้ความเห็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของ plant-based food ที่ได้ให้ความเห็นทั้งในประเด็นตลาด สินค้า และผู้บริโภค plant-based อุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงข้อเสนอ ความร่วมมือที่อยากให้เกิดขึ้น ได้ข้อสรุปถึงประเด็นสำคัญที่จะร่วมกันเดินหน้าต่อ อาทิ การไปดูต้นน้ำตัวใหม่ การทดสอบตลาด (Market Testing) เพื่อเก็บข้อมูลผู้บริโภค เป็นช่องทางนำสินค้าออกสู่ตลาดและสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค เรื่อง Nutrition/Clinical Trials ผ่านกลไก regulatory sandbox เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับอาหารแห่งอนาคต เรื่อง Flavor/Ingredient จากในประเทศ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเข้าถึงทรัพยากรด้านนวัตกรรมต่าง ๆ (access to innovation) เช่น แหล่งทุน ห้องปฏิบัติการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส (sensory lab) รวมถึงการทำให้เกิดมูลค่าทางการค้าขึ้นจริงในกลุ่มผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ



