messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “กิติพงค์” ชี้ เทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ จี้ รัฐเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ยก จีน เกาหลี สหรัฐ อินเดีย เติบโตก้าวกระโดด จากการใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิต

“กิติพงค์” ชี้ เทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ จี้ รัฐเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ยก จีน เกาหลี สหรัฐ อินเดีย เติบโตก้าวกระโดด จากการใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิต

วันที่เผยแพร่ 26 กรกฎาคม 2023 714 Views

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติเชิงสร้างสรรค์ ราชมงคลกรุงเทพวิชาการ 2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในวิทยากร บรรยายเกี่ยวกับ “นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์”

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า นโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาจากไอเดียดั้งเดิมผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และต่อมารัฐบาลวางเป้าหมายให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทุกปี ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจีดีพีประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ที่รัฐบาลลงทุน R&D เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเติบโตของเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และถ้าเทียบกับทั่วโลก ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับ จีน สหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรป และอินเดีย ซึ่งประเทศไทยเองก็ไปในทิศทางเดียวกัน โดยการใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในแต่ละภาคส่วน

ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงโอกาสของอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นเทรนด์โลกที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม EV ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่แพ็กและเซลล์แบตเตอรี่ รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในอนาคต นอกจากนี้ในส่วนของสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงนั้น จะต้องเข้าไปส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การลงทุนและความต้องการของประเทศ เนื่องจากเรามีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมารองรับเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าการผลิตนักสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนท์ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่สำคัญของประเทศไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรที่เปิดสอนส่วนมากยังเป็นหลักสูตรเก่า ขาดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ผู้จบการศึกษามีทักษะความสามารถไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการ upskill/reskill/new skill เพื่อผลิตกำลังคนรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเข้าสู่เส้นทางอาชีพ โดยได้พัฒนา Inclusive Higher Education Platform ให้มีโอกาสใช้ประโยชน์ หรือ เข้าถึงอุดมศึกษาที่เหมาะสม และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรค่าตอบแทนสูงด้วย

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งโอกาสสำคัญของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่แบ่งออกเป็นหลายด้าน ทั้ง อาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food และ Food Ingredients) กลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food) ได้แก่ กลุ่ม Plant-based Protein กลุ่ม Insect Protein และกลุ่มเนื้อเพาะเลี้ยง (Cultured Meat) รวมไปถึง Organic Food และ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ (Medicinal Food) นอกจากนี้ งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ซึ่งมีโปรแกรมด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ จีโนมิกส์ ควอนตัม อาหารแห่งอนาคต การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชีววิทยาสังเคราะห์ อวกาศ CCUS ฯลฯ ซึ่งในทุกสาขาต้องใช้นักวิจัยและทำการศึกษาที่ล้ำหน้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดจังหวัดสีเขียวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเลือกจังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบในการทำแซนด์บ็อกซ์ร่วมกับภาคเอกชน

ผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้ยกนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-driven enterprises: IDEs) ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งกำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน ความรู้ รวมถึงเครือข่ายการทำงาน โดยมีแนวทางการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบ Holding Company เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มีรัฐให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมสนับสนุน ผู้ประกอบการให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไปสู่เป้าหมายผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย เพื่อปลดล็อกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง

เรื่องล่าสุด