ในวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2023 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการหารือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียนมากกว่า 50 หน่วยงาน และเป็นตัวแทนของแต่ประเทศสมาชิก เพื่อร่วมกันหารือนโยบายของภูมิภาคภายใต้หัวข้อ ASEAN MSMEs Participation in Circular Economy จัดโดยกระทรวงสหกรณ์เพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประเทศอินโดนีเซีย
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมคณะผู้แทนประเทศไทย นำโดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน นำเสนอภาพรวมความก้าวหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนและเข้าร่วมประชุมหารือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียนและความร่วมมือผู้ประกอบการ MSMEs ประเทศสมาชิกอาเซียน สอวช. พร้อมนางสาวชณิภรณ์ เรืองฤทธิ์ นักวิเคราะห์นโยบาย สอวช. ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนสนับสนุนผู้ประกอบการ MSMEs ดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ วิเคราะห์โอกาส จุดทำงานร่วม เพื่อนำไปออกแบบการทำงานร่วมกันและข้อเสนอแนะทางนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภูมิภาคอาเซียนต่อไป โดยมีคณะผู้แทนประเทศไทยที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมในงานประชุมนี้ ได้แก่ ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นางสาวลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สสว. นางสาวนิภวิศน์ ฤทธิรงค์ หัวหน้าส่วนความร่วมมือภูมิภาค ASEAN สสว. และ นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ภายในงานได้มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมกล่าวเปิดงานและหารือเพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานต่อไปอาทิ Hanung Harimba Rachman รัฐมนตรีกระทรวงสหกรณ์เพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประเทศอินโดนีเซีย Satvinder Singh Deputy Secretary-General of ASEAN for ASEAN Economic Community ดร.กาญจนา วานิชกร ASEAN Secretariat’s Director of Sectoral Development Directorate และ Shameer Khanal Lead Advisor/Cluster Coordinator ASEAN
ทั้งนี้ข้อเสนอความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ 1) ตัวชี้วัด (BCG Indicator) เครื่องมือการประเมินและมาตรฐานสำหรับภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะ 2) Digital Platform สำหรับห่วงโซ่อุปทานใน sector นำร่อง โดยมี CE Hub Platform เป็นศูนย์กลางของโครงข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน 3) ด้านเทคโนโลยีในพื้นที่นำร่องที่ทำใน Saraburi Sandbox มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน และภาคพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาค สามารถนำเทคโนโลยีนี้ขยายต่อในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้