messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” ชูหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เป็นโอกาสทองในการพัฒนากำลังคน เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา พร้อมอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่ม รวมแล้ว 11 ข้อเสนอ

“เอนก” ชูหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เป็นโอกาสทองในการพัฒนากำลังคน เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา พร้อมอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เพิ่ม รวมแล้ว 11 ข้อเสนอ

วันที่เผยแพร่ 31 กรกฎาคม 2023 888 Views

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีความคืบหน้าในการอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์จากการประชุม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้มีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร

ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวง อว. ริเริ่มแนวทางการจัดการศึกษาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาเป็นโมเดลใหม่เพื่อให้ผลิตกำลังคนได้โดยไม่ติดข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่ สามารถนำผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมหาวิทยาลัยเข้ามาสอนได้ มีรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่นที่ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ แต่ต้องเรียนในสิ่งที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และเมื่อเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ ถ้าจะคิดทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ต้องคิดอะไรที่เป็นที่ต้องการจริง ๆ และร่วมขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง โดยภาคอุตสาหกรรมหรือฝั่ง demand จะต้องร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษาหรือฝั่ง supply เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ประเทศ และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

“เราต้องผลักดันให้หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์เป็นกระแสหลัก (mainstream) ที่คนจะให้ความสำคัญ อีกทั้งยังต้องสื่อสารให้มหาวิทยาลัยที่จะทำหลักสูตรเข้ามาเสนอเห็นเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาคนของประเทศให้ตอบโจทย์และเพียงพอกับความต้องการ ให้มองว่าการทำแซนด์บ็อกซ์เป็นโอกาสทองในการผลิตกำลังคน ซึ่งการที่เราได้ริเริ่มแนวคิดการทำหลักสูตรรูปแบบใหม่เป็นเรื่องที่ดี เราต้องเปลี่ยน mindset ว่าเราทำได้ และจะมุ่งสู่เป้าหมายได้อย่างประสบความสำเร็จ” ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา กล่าวถึงรายละเอียดสำคัญของหลักสูตรใหม่ หลักสูตรแรกคือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต (ต่อเนื่อง) โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้งเป้าผลิตวิศวกรบูรณาการระบบ (system integrator) รวม 60 คน ในระยะเวลา 3 ปี หลักสูตรนี้มีรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่น เรียนทฤษฎีเป็นโมดูลผ่านระบบ e-learning และสามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่ยึดตามภาคการศึกษา ผู้เรียนออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ได้เอง มีการฝึกปฏิบัติและประเมินผลสมรรถนะโดยสถานประกอบการ มีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของแต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันจัดการศึกษา ที่สำคัญ ยังเปิดรับผู้เรียนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มคนทำงานวุฒิ ปวส. นักศึกษาชั้นปีที่ 3 – 4 ในหลักสูตรที่ใกล้เคียงเพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนได้ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจากการประเมินความต้องการบุคลากรในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่าต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในช่วงปี 2562 – 2566 สูงถึง 37,526 ตำแหน่ง

หลักสูตรที่ 2 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม (หลักสูตรสองภาษา) โดย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งเป้าผลิตผู้บริหารระดับต้นและระดับปฏิบัติการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม จำนวน 200 คน ในระยะเวลา 3 ปี จุดเด่นของหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรปริญญาตรีที่ใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 2 ปี มีการจัดการศึกษาแบบ co-creation ร่วมกับสถานประกอบการ เรียนในมหาวิทยาลัย 1 ภาคเรียนและเรียนในสถานประกอบการ 3 ภาคเรียน บูรณาการศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธุรกิจ โดยความร่วมมือจาก 4 คณะในมหาวิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยนานาชาติ คณะสหเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา อีกทั้ง สถานประกอบการยังร่วมสนับสนุนนักศึกษาทั้งในรูปแบบ in-kind และ in-cash และรับนักศึกษาเข้าทำงานหลังเรียนจบ

ดร.เอนก ให้ความเห็นว่า จุดเด่นสำคัญของหลักสูตรนี้คือการใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปี เนื่องจากเราขาดคนทำงาน ถ้าลดเวลาเรียนลงก็จะสามารถผลิตคนออกสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น และจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือธุรกิจโรงแรมในไทย เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ดังนั้นจึงต้องเชื่อมโยงเอาภาคปฏิบัติเข้ามาร่วมกับภาคการศึกษา นำความเห็นจากคนที่ทำงานจริงในโรงแรมมาช่วยแนะนำว่าควรสอนอย่างไร และในอนาคตอาจมองถึงการนำเอาผู้บริหารธุรกิจหรือผู้บริหารโรงแรมเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็ต้องไปทำงานในภาคธุรกิจมากขึ้น หากจับมือทำงานร่วมกันก็จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าได้

นอกจากนี้ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ยังได้กล่าวถึงภาพรวมความก้าวหน้าการดำเนินการจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ ปัจจุบันมีข้อเสนอที่ได้รับการยกเว้นเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดและอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์โดยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ไปแล้ว 9 ข้อเสนอ ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาแล้ว 7 ข้อเสนอ เมื่อรวมกับข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมในครั้งนี้อีก 2 ข้อเสนอ ทำให้ล่าสุดมีข้อเสนอที่กระทรวง อว. อนุมัติให้จัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์รวมแล้ว 11 ข้อเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงรวมมากกว่า 19,000 คน

เรื่องล่าสุด