messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ยิ่งใหญ่!! ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยูเนสโกว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมประกาศถ้อยแถลงแห่งกรุงเทพฯ แสดงความมุ่งมั่นในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

ยิ่งใหญ่!! ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยูเนสโกว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมประกาศถ้อยแถลงแห่งกรุงเทพฯ แสดงความมุ่งมั่นในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

วันที่เผยแพร่ 6 กรกฎาคม 2019 583 Views

กรุงเทพฯ — ประเทศไทยได้รับเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการชีวจริยธรรมระหว่างประเทศ (IBC) สมัยที่ 26 และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (COMEST) สมัยที่ 11 พร้อมกับจัดการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระหว่างวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และยูเนสโก โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสอดรับกับยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลทำให้สาธารณชนเกิดความกังวลเกี่ยวกับการรักษาจริยธรรมในการวิจัยและการปฏิบัติวิชาชีพสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักประกันความทั่วถึงและความยั่งยืนตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

(5 กรกฎาคม 2562) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถวายรายงาน

ในการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นความสำคัญของจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีจีโนม เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจริยธรรมการวิจัย โดยในงานได้รับเกียรติจาก Mr. Xing Qu รองผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยูเนสโกกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ยงยุทธ  ยุทธวงศ์ กรรมการ IBC และอดีตประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (IGBC) ของยูเนสโก กล่าวปาญกถาพิเศษหัวข้อ “จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” สำหรับในส่วนของงานสัมมนาจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากนโยบายสู่การปฏิบัติ นอกจากหน่วยงานยูเนสโกที่มาแลกเปลี่ยนหารือแล้วนั้น หน่วยงานนโยบายฝ่ายไทยอย่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติด้วย โดยคาดหวังว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้จะช่วยสร้างเสริมความตระหนักของสาธารณชนต่อจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะเป็นโอกาสของการร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลายหลายในอนาคต

โดยประเด็นสำคัญหนึ่งจากการประชุมครั้งนี้ คือการจัดทำเอกสารผลลัพธ์การประชุม “ถ้อยแถลงกรุงเทพ” (Bangkok Statement) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของที่ประชุมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม และเพื่อสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะโดยรวมต่อรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ว่าด้วยการพัฒนาและใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างมีประสิทธิผลและสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยได้ประกาศถ้อยแถลง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยียีนส์ เซลล์และการปรับแต่งชีวิต 2. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และข้อมูลขนาดใหญ่ 3. เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 4. จริยธรรมการวิจัย และ 5. การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการ IBC คณะกรรมาธิการ COMEST ซึ่งมีทั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระและนักวิชาการชั้นนำจากทุกภูมิภาคของโลกในสาขาวิทยาศาสตร์ กฎหมาย ปรัชญา วัฒนธรรม และการเมือง โดยผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้จะได้นำเสนอและร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการที่มีผู้ร่วมประชุมที่หลากหลายจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ การจัดการประชุม COMEST นับเป็นครั้งที่สองที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพแล้วเมื่อการประชุม COMEST สมัยที่ 4 เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำความตั้งใจของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในประชาคมวิจัยและปฏิบัติด้านจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงชีวจริยธรรม และความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ส่วนการประชุม IBC ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ขอบคุณภาพจาก : สป.อว.

Tags:

เรื่องล่าสุด