messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ เน้นย้ำความสำคัญในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

สอวช. ร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ เน้นย้ำความสำคัญในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

วันที่เผยแพร่ 17 สิงหาคม 2023 610 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมในการประชุมโต๊ะกลมเรื่องธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้เรียนเชิญ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมในการประชุมโต๊ะกลมเรื่องธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Roundtable) ซึ่งจัดภายใต้หัวข้อ From Principles to Best Practice – focusing on contemporary and future AI guideline and regulation in Thailand โดยกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจาก UK Foreign, Commonwealth and Development Office เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของพลังของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) รวมถึงความท้าทายด้านจริยธรรมและกฎระเบียบเพื่อให้ AI ถูกนำมาใช้อย่างปลอดภัยในภาคส่วนต่าง ๆ

การประชุมนี้ ได้เชิญผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานที่กำกับดูแลกฎระเบียบ และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้าน AI ของไทยและสหราชอาณาจักร มาหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและกฎระเบียบด้าน AI ในปัจจุบันและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของ AI เพื่อสนับสนุนการพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดี

ดร.ปราณปรียา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้กล่าวถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการ Reskill/Upskill ความรู้ที่เกี่ยวกับ AI แก่นักศึกษาและประชาชนในวัยทำงาน รวมถึงการให้ความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล (Basic Digital Literacy) ในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล และกลุ่ม MSMEs ที่มีทุนในการดำเนินกิจการน้อย เพื่อให้คนกลุ่มนี้ สามารถตามเทคโนโลยีได้ทัน และลดช่องว่างของ Digital Divide

ดร.ปราณปรียา ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สอวช. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities: APRU) กูเกิล (Google.org) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) และพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม AI ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนั้น สอวช. ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลเพื่อตอบแบบสอบถามของ UNESCO เกี่ยวกับจริยธรรมของ AI และการนำ AI ไปใช้ทำประโยชน์สาธารณะเพื่อการศึกษา

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีขีดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการใช้ชีวิตและการทำงานของทุกคน ในการนี้ สหราชอาณาจักรได้วางเป้าหมายว่าจะเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในด้าน AI โดยได้ประกาศการระดมทุนจำนวนถึง 1 พันล้านปอนด์ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน AI ตามที่ได้กำหนดใน National AI Strategy เมื่อปี 2021 หลังจบการประชุม แขกผู้มีเกียรติได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง (Welcoming Reception) ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่ Four Seasons Private Residences

เรื่องล่าสุด