messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” ฝาก สอวช. มัดรวมโครงการเมืองต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ให้เร่งขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ชี้เป็นเทรนด์โลกที่เลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไม่ให้ตกขบวน

“เอนก” ฝาก สอวช. มัดรวมโครงการเมืองต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ให้เร่งขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ชี้เป็นเทรนด์โลกที่เลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไม่ให้ตกขบวน

วันที่เผยแพร่ 21 สิงหาคม 2023 835 Views

ในการประชุม คณะกรรมการอำนวยการอำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 7/2566 ครั้งที่ 7 จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับหัวข้อการเสวนาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในครั้งนี้ มีจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ นวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศไทย หรือ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ และแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนของภาคผลิตและบริการ (Manpower Development Platform) ซึ่ง รมว.อว. ได้ย้ำ ต่อที่ประชุมว่า ทั้ง 2 โครงการ เป็นเรื่องหลักของประเทศ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ และต้องเชิญนายกรัฐมนตรีจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาร่วมหารือ นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนความคิดของประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่ง สอวช. ต้องขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ตามที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ของไทย ที่พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ได้ในปี ค.ศ. 2065 สอวช. ได้ขับเคลื่อนโดยนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยริเริ่มในโปรแกรมหลัก ได้แก่ นวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบ 3 พื้นที่ ที่วางกรอบจะดำเนินการได้แก่ สระบุรี แม่เมาะ และระยอง โดยมีบริบทและลักษณะการดำเนินการที่จะไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ สอวช. ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ออกแบบการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานในระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 5 ภาค ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ทำงานร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) โดยมหาวิทยาลัยร่วมขับเคลื่อนและเป็นปัจจัยเอื้อ ที่สำคัญของระบบนิเวศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้มหาวิทยาลัยมีแนวทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission Universities ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและขยายผลไปสู่ชุมชน โดยอาจใช้กลไกป่าล้อมเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัย และให้ สอวช. เป็นตัวเชื่อมประสาน ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ดร.เอนก เสนอให้ขับเคลื่อนผ่าน ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ทั้ง 4 ทปอ. ประกอบด้วย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท) เพื่อให้เกิดการกระจายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยทุกรูปแบบอย่างทั่วถึง และร่วมกันคิดร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปได้

ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศที่จะไปสู่ Net Zero นั้นมีสิ่งสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. คนที่จะทำเรื่องนี้ต้องเป็นผู้ที่มีกำลังทำ คือต้องมีทั้งความรู้และทุน กรณีของจังหวัดสระบุรี เราไปจับมือกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ ทำให้เกิดแผนการลงทุน Energy transformation คือเปลี่ยนจากถ่านหินลิกไนต์ มาเป็นไบโอแมส และอนาคตจะเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงกับโลก ที่มี 2 วาระหลักคือ การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งทุกประเทศต้องเข้าร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะตกขบวน 2. ประเทศพัฒนาแล้ว กำหนดเกณฑ์ที่เขาคิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมา ประเทศที่ค้าขายกับเขาก็ต้องเอามาตรฐานที่เขาคิดมาใช้ในการผลิต 3. เราต้องมองภาพใหญ่คือเป็นระดับอุตสาหกรรม หรือเป็นเมือง โอกาสสำเร็จตามเป้าหมายจะมีมากกว่า และ 4. คือ ความหลากหลาย ต้องชักชวนประชาชนทั้งจังหวัดหรือทั้งหมู่บ้านเข้ามาร่วมด้วย ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น การเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร ทำนาแห้งสลับเปียก หรือการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

“ทั้ง 4 ข้อจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่ง สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ก้าวหน้าไปมาก และจะเป็นโชว์เคสหลัก ในงาน COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ดูไบ โดยเราจะนำเสนอโมเดลความสำเร็จของสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ในโซนการจัดนิทรรศการของประเทศไทย” ดร.กิติพงค์ กล่าว 

ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึง การพัฒนากำลังคนสมรรถสูง ว่า สอวช. ร่วมกับ กระทรวง อว. พัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนของภาคผลิตและบริการ (Manpower Development Platform) ขึ้นมา ปีที่ผ่านมาได้เทรนด์คนไปมากกว่า 50,000 คน ปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มการเทรนด์คนเป็น 100,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากนี้ ยังสามารถจ้างงานกำลังคน STEM Workforce ไปประมาณ 4,000 คน และปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานผ่านทางแพลตฟอร์มดังกล่าวอีก 10,000 คน

ทั้งนี้ ดร.เอนก ได้กล่าวสนับสนุนว่า แพลตฟอร์มดังกล่าว ทำได้ดีอยู่แล้ว และเราจะทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในอนาคตอาจจะพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันหรือมหาวิทยาลัยอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจมองถึงแนวทางในการดำเนินการร่วมกับภาคธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย

เรื่องล่าสุด