(20 กันยายน 2566) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “NDC Accelerator รวมพลัง เร่งขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” เพื่อผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน ณ Hall 1 อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมกล่าวเปิดงาน
ในช่วงการกล่าวเปิดงานฯ ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่าเป็นงานที่ได้เห็นการรวมตัวกันของหลายหน่วยงานที่ต่างเห็นความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการขับเคลื่อนต่าง ๆ เริ่มมีความชัดเจนโดยเฉพาะการเดินหน้าการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ที่ขับเคลื่อนเรื่องการตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Verification) สำนักงาน ก.พ.ร. ที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะความเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนงานร่วมกันในโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างมาก ตั้งแต่การสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่ม SME มีหลักสูตรเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดซื้อขายพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ในส่วนของการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อผลักดันการแข่งขันของภาคเอกชน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่องและมีความพยายามพัฒนาระบบการให้ทุนกับภาคเอกชนโดยตรง ผ่านกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่ขาดไม่ได้คือภาคเอกชน เช่น SCG และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association: TCMA) ที่ถือเป็นผู้นำในการรวมพลังของภาคเอกชน ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยจะร่วมมือกับภาครัฐพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมาย ทั้งยังคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลกได้
ในส่วนของการขับเคลื่อนงานด้านอุดมศึกษานั้น สอวช. ได้พยายามทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยผ่านการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อริเริ่มการดำเนินงาน Green campus เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ศึกษาและประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการสร้างระบบการเก็บข้อมูล การศึกษาปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังทำการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน เช่น Solar roof อย่างจริงจังในทุกอาคารของมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าสามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 20% ซึ่งหากภาครัฐสามารถขยายผลกรณีศึกษานี้ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล หรือโรงเรียน จะสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศเข้าใกล้เป้าหมายการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไวยิ่งขึ้น ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “การใช้คำว่า Accelerator เป็นชื่อหัวข้อการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นคำที่ใช้อธิบายรูปแบบในทางปฏิบัติได้ดี เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อน และคาดหวังว่าข้อสรุปที่ได้จากการระดมความเห็นครั้งนี้จะถูกนำไปปฏิบัติให้เห็นผลจริงได้ต่อไป”
สำหรับรูปแบบกิจกรรมภายในงานนั้นได้จัดให้มีการแบ่งกลุ่มย่อยรับฟังประเด็นปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความสามารถในการแก้ไขและจัดการ โดยการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดกลุ่มประเด็นต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กลุ่มที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และกลุ่มที่ 3 กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) โดยทีม สอวช. ได้มีส่วนร่วมในการเป็นกระบวนกรของเวทีรับฟังข้อคิดเห็นฯ ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน และกลุ่มที่ 3 กลไกราคาคาร์บอน
โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังมีเวทีเสวนาสรุปข้อเสนอแนะเพื่อเร่งขับเคลื่อน NDC โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และนายนที สิทธิประศาสน์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Nationally Determined Contributions: NDCs ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐสู่การปฏิบัติเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ข้อสรุปที่ได้จะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023: Accelerating Changes Towards Low Carbon Society ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 นี้ต่อไป