messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ไทย – จีน สัมพันธ์แน่น อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงปักกิ่ง นำคณะเยือนไทย นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบาย วทน. แลกเปลี่ยน

ไทย – จีน สัมพันธ์แน่น อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงปักกิ่ง นำคณะเยือนไทย นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบาย วทน. แลกเปลี่ยน

วันที่เผยแพร่ 11 กรกฎาคม 2019 796 Views

(8 กรกฎาคม 2562) อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง นำคณะผู้เชี่ยวชาญจาก Beijing Great Wall Enterprise Institute (GEI) เข้าพบผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สอวช. ให้การต้อนรับ ณ ห้องหว้ากอ 1 ชั้น 14 อาคารจามจุรีแสควร์

ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ข้อตกลงกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน (Science and Technology Partnership Program-SETP) ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังมีความร่วมมือด้าน วทน. ภายใต้ China ASEAN Science and Technology Partnership Program และ Belt and Road Science Technology and Innovation Cooperation Action Plan ซึ่งหนึ่งในสี่สาขาของความร่วมมือภายใต้ Belt and Road Initiative คือ ความร่วมมือด้านอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ 2” (2nd Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย โดยได้หารือความร่วมมือและแลกเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) พร้อมได้เข้าพบประธานบริษัท Great Wall Enterprise Institute (GEI) และผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือความร่วมมือการจัดทำนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ อย่่างประเด็นอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ด้วย

และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน และสร้างความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ในการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จึงได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญจาก GEI มาเยือนประเทศไทย ภายใต้กิจกรรม The first on-site research 2019 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 12 กรกฎาคม 2562 เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จากคลังสมองของจีน มาแลกเปลี่ยนกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และ Food Innopolis อันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนานโยบายด้าน วทน. ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย – จีน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 คณะอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญจาก GEI เข้าพบผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. หลังจากที่ได้มีการไปดูงานและสัมภาษณ์ทีมผู้บริหารของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย Thailand Science Park, Food Innopolis และ EECi ในช่วงเช้าและหารือกับ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในเรื่องการพัฒนายกระดับพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรม (Economic Zone of Innovation) อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้งนี้ ในส่วนการหารือกับ สอวช. ดร.กิติพงค์ และ Mr.Wang Delu ประธานบริษัท GEI ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศจีนได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ในประเทศ ให้ไปสู่ระดับ Unicorn โดยใช้กลไกที่รัฐบาลกลางประเทศจีนจะออกแบบทิศทางของนโยบายให้มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้มีการออกแบบนโยบายที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ถึงกันผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) กลาง เพื่อสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งเครือข่าย

อย่างไรก็ตาม GEI มีความเห็นว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง จากการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในส่วนของการอุดมศึกษาเข้าด้วยกัน เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถผลักดันให้เกิดการสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ผ่านการฝึกฝนและบ่มเพาะในมหาวิทยาลัย และเชื่อว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนา Startup ของประเทศไทยให้เติบโตได้เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศได้

ด้าน ดร.กิติพงค์ ยังได้หารือร่วมกับ GEI ถึงความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ในการเชิญบริษัท Startup ที่ประสบความสำเร็จในระดับ Unicorn จากประเทศจีน มาทำการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันศึกษาแนวทางในการจัดทำแผนการพัฒนา New Economy Innovation Enterprises ของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีประสบการณ์สูง จะเชื่อว่าจะสามารถเสนอแนะแนวทางการพัฒนาแก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

Tags:

เรื่องล่าสุด