messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมอภิปรายในการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมในประเทศไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมอภิปรายในการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมในประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 27 กันยายน 2023 488 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมอภิปรายในการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ และผ่านระบบประชุมทางไกล

ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมอภิปรายในการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมในประเทศไทย (Towards an Inclusive Green Transition in Thailand) จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์การพัฒนาแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Development Centre) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) โดยมี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ Ms. Sara Rezoagli, Deputy Head of the Delegation of the European Union to Thailand และ Mr. Federico Bonaglia, Deputy Director, OECD Development Centre เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทย OECD สหภาพยุโรป (EU) นักการทูตยุโรปประจำประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟัง แสดงความคิดเห็น และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมและยั่งยืนจากประเทศต่าง ๆ

การประชุมหารือเชิงนโยบายฯ นี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุมและเป็นธรรม โดยมีการหารือใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการส่งเสริมทักษะแรงงานและนโยบายทางสังคม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการป้องกันทางสังคม และบทบาทของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุม

ดร.ปราณปรียา ได้อภิปรายในช่วงการส่งเสริมทักษะแรงงานและนโยบายทางสังคมเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (The energy transition and accompanying skill and social policies) โดยกล่าวถึงผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้มีงานและอาชีพในบางสาขาที่จะลดลงในภาคเชื้อเพลิงฟอสซิล และในขณะเดียวกัน ก็จะมีงานที่เพิ่มขึ้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันนี้ ทำให้แรงงานต้องมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ ๆ และความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตอาจมีทักษะหรืออาชีพใหม่ที่ยังไม่มีในปัจจุบันอีกด้วย ภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน

ดร.ปราณปรียา ยังได้กล่าวถึงนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้เกิดการฝึกทักษะของแรงงานและผู้ประกอบการ และเชื่อมช่องว่างระหว่างการผลิตบุคลากรของภาคการอุดมศึกษา และความต้องการแรงงงานของภาคอุตสาหกรรม โดยได้อธิบายถึงแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต นิสิต/นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะและสมรรถนะในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงหลักสูตรและความเชี่ยวชาญจากภาคอุดมศึกษา ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและการวิจัยพัฒนาที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ยังได้กล่าวถึงหลักสูตรอบรมจาก CIRCO ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการแบ่งปันความรู้การดำเนินธุรกิจโดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

หลังการประชุมครั้งนี้ OECD Development Centre จะนำผลการหารือไปประกอบการจัดทำรายงานเชิงนโยบาย ภายใต้โครงการ Policy Dialogue on “Transforming Asian Economies: Towards Shared Gains” ที่จะให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการผลิตและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสีเขียวที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวนโยบายของไทย โดยเฉพาะด้านการจ้างงาน การรับมือกับการเปลี่ยนผ่าน และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ

เรื่องล่าสุด