messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ฟิต ชง ควิกวิน 1,000 นวัตกรรมแก้จน เสนอ ครม.ใหม่ มั่นใจแก้เศรษฐกิจจากฐานราก

สอวช. ฟิต ชง ควิกวิน 1,000 นวัตกรรมแก้จน เสนอ ครม.ใหม่ มั่นใจแก้เศรษฐกิจจากฐานราก

วันที่เผยแพร่ 15 กรกฎาคม 2019 453 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสือปืนไว เสนอโครงการ “1,000 นวัตกรรมแก้จน” ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมประสานเครือข่ายทั่วประเทศ ดึงนักขับเคลื่อนชุมชนพันคน หนุนงบพันล้าน ดึงลูกหลานคืนถิ่น เพื่อเกษตรยั่งยืน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า นโยบายแก้จน คือหนึ่งในมิติสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยการสร้างอาชีพ ยกระดับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของชุมชน มุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ การวิจัยและเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ สนับสนุนด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างแบรนด์และเรื่องราวของผลิตภัณฑ์  

ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า สอวช. จึงขอนำเสนอ โครงการ 1,000 นวัตกรรมแก้จน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยต่อยอดความคิดมาจาก BCG Model ที่รัฐบาลที่แล้วต้องการให้มีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดย B ก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ C ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว ทั้ง 3 เรื่องนั้น สอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และดูแลโลกของเราในทุกมิติ นอกจากนี้ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้โครงการ 1,000 นวัตกรรมแก้จน ไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ถึงเศรษฐกิจฐานราก ด้วยงบประมาณที่จะดำเนินการ 3,000 ล้านบาท ครอบคลุม 3 ปี

“เรามีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 12 แห่ง   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 แห่ง ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่ง และศูนย์ประสานงาน วท.ภาคตะวันออก ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 4 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายพันธมิตรในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาด้าน วทน. ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสถาบันวิจัยอีก 10 แห่ง ซึ่งจากขุมกำลังที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เมื่อผนวกเข้ากับนักขับเคลื่อนชุมชนที่คัดเลือกมาเป็นตัวแทน 1,000 คน และนโยบายการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จากโครงการ ตลอดจนการขึ้นบัญชีนวัตกรรมของรัฐแล้ว เชื่อว่าจะทำให้การแก้ปัญหาความยากจนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ลูกหลานจะคืนสู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจฐานรากจะมีความมั่นคงและยั่งยืน” ผอ. สอวช. กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด