(16 ตุลาคม 2566) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนระบบนิเวศธุรกิจฐานวิจัยนวัตกรรมของประเทศไทย (Thailand Deep Tech Startup Ecosystem) และร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “Opportunities and Ecosystem of Thailand Deep Tech Landscape” ในงาน Chula Deep Tech Demo Day 2023 จัดโดย ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องเพลนารี ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน



ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs) โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน IDE ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายใน 5 ปี เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยให้ออกจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep tech) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม IDE เช่นกัน

สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ในหลายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและวัตถุดิบจากพืช เรามีแนวทางในการเปลี่ยนรูปแบบจากการทำการเกษตรแบบเดิมมาเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูง ซึ่งสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงจะต้องอาศัยนวัตกรรมเข้าไปช่วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอัตโนมัติ (autonomous) การเปลี่ยนรูปแบบของยานพาหนะในประเทศ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมชีวเภสัชกรรม (biopharmaceutical) ที่สตาร์ทอัพในประเทศไทยมีความสามารถทำได้เอง ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) ก็ได้มีแนวทางสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในไทยเพื่อสร้างโอกาสให้กับสตาร์ทอัพในประเทศด้วย

ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงการดำเนินการที่ผ่านมา สอวช. ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพได้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมายังได้มีแนวทางปรับการสนับสนุนหลายส่วน เช่น การปรับวิธีการให้ทุนที่ลงไปถึงการพัฒนานวัตกรรมและออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง และสิ่งสำคัญคือการผลักดันให้กลุ่มสตาร์ทอัพเติบโตและประกอบธุรกิจได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผ่านการปลดล็อกข้อจำกัดและกฎระเบียบต่าง ๆ โดยในอนาคตไทยเรากำลังจะมี Startup Act ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพโดยตรง

“เราต้องตั้งเป้าหมายในการพัฒนาสตาร์ทอัพ และต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยนั้นการพัฒนาสตาร์ทอัพถือว่าสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในแง่ของสิ่งอำนวยความสะดวก รัฐบาลไทยได้ลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ศูนย์บ่มเพาะด้านเทคโนโลยี จึงอยากให้สตาร์ทอัพได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มากขึ้น และในการเฉลิมฉลองปีใหม่ 2024 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยควรเฉลิมฉลองเป็นปีแห่งโอกาสของ deep tech startups ของไทยด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

