ผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีและการหารือระดับสูง ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 123 (The 123rd Session of the Committee for Scientific and Technological Policy: CSTP) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Policies for Science and Innovation Data and Evidence โดยคณะกรรมการ CSTP ร่วมกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญระดับชาติด้านตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The OECD Working Party of National Experts on Science and Technology Indicators: NESTI) และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม (The OECD Expert Group on Management and Analysis of Research and Innovation Administrative Data: MARIAD) ระหว่างวันที่ 17 – 20 ตุลาคม 2566 โดย ดร.อภิชาติ อภัยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ดร.อภิชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงและให้ความเห็นในวาระต่าง ๆ เช่น นโยบายด้านข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ความจำเป็นของข้อมูลเชิงลึกในอนาคตด้านเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วทน.) ในปัจจุบัน แบบสำรวจ European Commission (EC) – OECD Science, Technology and Innovation Policies (STIP) Survey 2023 กรอบการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย วทน. (The S&T Policy 2025) การหารือในประเด็นหลักสำหรับโปรแกรมการทำงานและงบประมาณของคณะกรรมการ CSTP พ.ศ. 2568-2569 และการวางแผนเตรียมการประชุม CSTP ระดับรัฐมนตรีและการหารือระดับสูงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 โดยได้แสดงความสนใจในวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียวและปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเตรียมการของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม และเสนอให้คณะกรรมการร่วมเชิญรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวฯ
ดร.อภิชาติ ยังได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือและแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมด้วย วทน. เพื่อการเปลี่ยนแปลงสีเขียว และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือในประเด็นการประเมินเทคโนโลยีและการประเมินการวิจัย
นอกจากนี้ ดร.อภิชาติ ได้ประชุมร่วมกับ Division of Science and Technology Policy Division ภายใต้ OECD เพื่อหารือความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานภายใต้โครงการ OECD – Thailand Country Program Phase II โครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย (Supporting STI strategy for carbon neutrality and transitions) ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD มีกำหนดเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2566 และมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี