กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 84 (The 84th Meeting of ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation: COSTI-84) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17 – 20 ตุลาคม 2566 ณ เมืองโบโฮล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดย Department of Science and Technology สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation: BAC) ครั้งที่ 15 และ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ และนางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สอวช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 84 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น การประชุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และคู่เจรจาของอาเซียน
ดร.กิติพงค์ ได้เสนอข้อริเริ่มด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยนำแนวคิดเมืองต้นแบบซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการ มาขยายผลกับประเทศสมาชิกอาเซียนในลักษณะเมืองท่องเที่ยวสีเขียว และในอนาคตอาจผลักดันข้อเสนอนี้ให้เป็นข้อริเริ่มจากอาเซียน ในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ทั้งนี้ แนวความคิดนี้ มีความสอดคล้องกับข้อริเริ่มเรื่อง Conduct capability building for sustainable infrastructure & smart cities ภายใต้ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (The ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ได้ให้ความเห็นในการประเมินบทบาทและอำนาจของ BAC โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งควรมีผู้แทนทั้งจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย รวมทั้งได้ให้ความเห็นต่อการทบทวนการดำเนินการแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (พ.ศ. 2559-2568) (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation 2016–2025) และการประเมินการใช้ประโยชน์กองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Science Technology and Innovation Fund: ASTIF) ทั้งนี้ ประเทศไทยเสนอรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และได้เรียนเชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม เพื่อพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม COSTI-84 ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้ารับรางวัล The Underwriters Laboratories-ASEAN-US Science Prize for Women 2023: Senior Scientist Category ภายใต้หัวข้อ Electrification ซึ่งเป็นรางวัลที่ COSTI ร่วมกับ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) และสถาบันวิจัย UL (UL Research Institutes: ULRI)
สำหรับการประชุมทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ปราณปรียา ได้นำเสนอภาพรวมระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศไทย รวมทั้งทิศทางนโยบายสำคัญที่ สอวช. ผลักดัน เช่น การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ แนวทางการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น