messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “สุวิทย์” นำทีมสังคายนาจัดสรรงบประมาณ ให้ก้อนใหญ่ใช้ได้ต่อเนื่องขับเคลื่อน 4 แพลตฟอร์มหลักของประเทศ ประกาศ ยืนหนึ่งต้นแบบกระทรวงปฏิรูประบบราชการ ชูมหาวิทยาลัยเป็นพลังหลักพลิกโฉมประเทศ เล็งยกเครื่องครั้งใหญ่ ด้าน สอวช. ตั้งเป้า 5 ปี งบวิจัยแตะ 1.5% ของจีดีพีประเทศ

“สุวิทย์” นำทีมสังคายนาจัดสรรงบประมาณ ให้ก้อนใหญ่ใช้ได้ต่อเนื่องขับเคลื่อน 4 แพลตฟอร์มหลักของประเทศ ประกาศ ยืนหนึ่งต้นแบบกระทรวงปฏิรูประบบราชการ ชูมหาวิทยาลัยเป็นพลังหลักพลิกโฉมประเทศ เล็งยกเครื่องครั้งใหญ่ ด้าน สอวช. ตั้งเป้า 5 ปี งบวิจัยแตะ 1.5% ของจีดีพีประเทศ

วันที่เผยแพร่ 2 สิงหาคม 2019 573 Views

(2 สิงหาคม 2562) เมืองทองธานี / สำนักงานสภานโยบายการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Focus Group) เรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญของแผนงานเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยเชิญผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย หน่วยงานในระบบวิจัย ภาคเอกชน และผู้นำชุมชนทั่วประเทศร่วมหารือขึ้นรูปยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อการพัฒนา โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาด้าน อววน. หลังจากได้มีการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาแล้วระดับหนึ่ง และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมตามระบบงบประมาณใหม่ที่เป็นรูปแบบในลักษณะ Block Grant ที่ตอบโจทย์สำคัญและสามารถทำการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง (Multi-year) จึงได้มีการตกผลึกยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนาเป็น 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2.การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจท้องถิ่น

“ระบบงบประมาณใหม่ที่เป็นรูปแบบในลักษณะ Block Grant ที่ตอบโจทย์สำคัญและสามารถทำการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง (Multi-year) เป็นระบบที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกให้เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการไทย อีกทั้งยังเป็นระบบที่จะช่วยให้การทำงานของหน่วยปฏิบัติมีความคล่องตัวและเกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยการขับเคลื่อนให้เกิดยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา 4 แพลตฟอร์มข้างต้นนั้น พลังสำคัญในการขับเคลื่อนคือ ภาคการอุดมศึกษา ที่จำเป็นต้องมีการยกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อให้มีการภารกิจที่ตอบโจทย์ประเทศ ภายใต้แคมเปญการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมทั้งระบบ (Reinventing Universities & Research Institutes) ของกระทรวง อว.” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเสริมว่า เพื่อให้การจัดทำงบประมาณในรูปแบบ Block Grant Multi-years เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มีการกำหนดแพลตฟอร์มยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนาขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานจัดสรรงบประมาณ และหน่วยงานปฏิบัติมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน และตอบโจทย์ประเทศได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนการทำงานแบบฐานเดิมและจะเป็นการพลิกโฉมประเทศครั้งสำคัญ อีกทั้งเป็นปัจจัยในการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยตั้งเป้าว่าในปี 2565 การลงทุนจะแตะ 1.5% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 277,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ชื่นชมการตั้งกระทรวง อว. ที่จะขับเคลื่อน 4 แพลตฟอร์มอย่างจริงจัง และในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายนั้นได้ดำเนินการในบางแพลตฟอร์มมาสักระยะแล้ว โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มที่ 1 เรื่องของการพัฒนากำลังคน ได้มีการประสานงานกับภาคส่วนอุตสาหกรรม ส่วนราชการและชุมชน การปรับตัวจึงไม่ใช่เรื่องที่แตกต่างจากเดิมมากนัก ขณะที่กลุ่มตัวแทนจากชุมชน แสดงความชื่นชมแพลตฟอร์มที่ 4 คือ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่การนำนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชุมชนนั้น ในทางปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายอาจมีการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน จึงจำเป็นต้องมีตัวประสานระหว่างกลาง เสมือนล่ามที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายพูดภาษาเดียวกัน โดยฝ่ายวิชาการก็จะมีองค์ความรู้ด้านวิชาการแต่ขาดประสบการณ์ในพื้นที่ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ขาดองค์ความรู้ที่เป็นวิชาการ ดังนั้นจะต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย เพื่อให้นักวิชาการเป็นเสมือนนักวิจัยพี่เลี้ยงให้กับชุมชน ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นที่กับงานวิชาการ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมก็มีความห่วงใยเรื่องหน่วยงานเจ้าภาพแต่ละแพลตฟอร์มว่าจะมีแนวทางกำหนดอย่างไรให้เหมาะกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนภารกิจของบางหน่วยงานที่เคยทำงานร่วมกันเช่น สกว. ที่เปลี่ยนเป็น สกสว. นั้น จะสามารถประสานงานต่อกับชุมชนเหมือนเดิมหรือไม่ อาจจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนว่า ตอนนี้ชุมชนมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัย และมองว่าในทุกแพลตฟอร์มที่กระทรวงจะดำเนินการนั้นนั้น เป็นแนวคิดที่ดีมากและก็เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาประเทศชาติได้

Tags:

เรื่องล่าสุด