การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และส่วนเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ของประเทศไทย หรือเรียกว่า “ส่วนจัดแสดงนวัตกรรม (Innovation Zone)” ร่วมกับคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) ภาคเอกชน ดำเนินการออกแบบเนื้อหาและรูปแบบการจัดแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ในพื้นที่ Thailand Pavilion ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุม COP28
โดยการประชุม COP28 ในครั้งนี้ ประเทศไทยจะขยายโอกาสขอความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี และวิชาการ ในการจัดการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการรายงานความก้าวหน้าและบทบาทของประเทศไทยในการสนับสนุน ขับเคลื่อนงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมาย และช่วยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการลดความสูญเสียและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือกับรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ และหน่วยงานระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนและเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ของประเทศไทย ยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลและนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสู่ประชาคมโลก รวมทั้งเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ ณ Thailand Pavilion ด้วย โดยพื้นที่ทั้งหมดในส่วนการจัดแสดงจะมีการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 – 2573 (NDC Roadmap) แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มปูนซีเมนต์ การปรับตัวของประเทศสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ และ Carbon taxes แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เครื่องมือกลไกภายในและระหว่างประเทศ Thailand Innovation Zone รวมถึงกิจกรรมคู่ขนาน ภายใต้แนวคิด “Climate Partnership Determination” ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษากว่า 20 หน่วยงาน
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/845250