กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส และ ดร.อภิชาติ อภัยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้กรอบอาเซียน ระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ


ในการประชุมพิเศษของที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation: BAC) เรื่องแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฉบับใหม่ (2569 – 2579) หรือ ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation (2026 – 2035) ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมฯ ข้างต้น ดร.กิติพงค์ ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย และประธานร่วมฯ โดยเสนอให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ ในประเด็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เยาวชนและคนรุ่นใหม่ ในการยกร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ฉบับใหม่ และ ดร.ปราณปรียา ได้กล่าวเสริมเรื่องแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว รวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight: APEC CTF) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ สอวช. โดยเห็นว่าเป็นโอกาสในการร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์กับ BAC


นอกจากนี้ ดร.สิริพร แสดงความเห็นว่า BAC ควรให้คำแนะนำในการคาดการณ์อนาคต การกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้โลกของความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน นอกเหนือไปจากการให้คำเสนอแนะทั่วไปต่อคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


สอวช. ยังได้เข้าร่วมระดมสมองกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อปรับแผนการดำเนินงานของแผนที่นำทางนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Innovation Roadmap 2019 – 2025) เพื่อให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์โลก ตลอดจนการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่างกฎบัตรการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียน (ASEAN Talent Mobility Charter) การจัดทำ Landscape Study และวิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยอาเซียน (ASEAN Regional Research Infrastructure – ASEAN RRI)
