เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง ภายใต้แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง (STEMPlus) และการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแพลตฟอร์มพัฒนากำลังสมรรถนะสูง (STEM One-Stop Service: STEM OSS)ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ ชั้น 2 ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

นางสาวภาณิศา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการ STEM OSS และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการ Thailand Plus Package รวมทั้งมีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการบุคลากร (Demand Analysis) ของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้การต้อนรับและร่วมหารือในการพัฒนาสร้างหลักสูตรให้แก่นักศึกษาและกำลังคนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในงานนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน อาทิ หอการค้าจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี สรรพากรพื้นที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุน ภาค 3 สมาพันธ์ SMEs ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ รวมทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

วัตถุประสงค์สำคัญในหารือในครั้งนี้ คือ การนำแพลตฟอร์ม STEMPlus การทำงานของศูนย์ STEM OSS และมาตรการ Thailand Plus Package มาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและขยายเครือข่ายการพัฒนาความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถานประกอบการในรูปแบบ Reskill & Upskill ผลจากการหารือและทำความเข้าใจในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กำหนดเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการเป็นศูนย์ STEM OSS เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานการพัฒนาบุคลากรสมรรถสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้




