กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) จัดการประชุมภาคีเครือข่าย “การพัฒนาต้นแบบข้อริเริ่มการขับเคลื่อนการรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม แรมแบรนดท์ โฮเทล แอนด์ สวีท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หลังจากที่ สอวช. และ สสวทท ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มการขับเคลื่อนการรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สสวทท ได้มีข้อเสนอต้นแบบข้อริเริ่มเป็นโครงการต่าง ๆ ที่ได้นำมาหารือพูดคุยกันในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และหาแนวทางการขยายผลสู่การพัฒนานโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการประชุมครั้งนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบาย อววน. เพื่อส่งเสริมการรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การทำงานด้านการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายหลักออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่ม Influencer เป็นกลุ่มที่มีจำนวนไม่มาก แต่มีความสำคัญในสังคม อาทิ นักการเมือง นักการตลาด นักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ รวมถึงกลุ่ม Decision maker ในระดับนโยบาย อาทิ นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับกระทรวง บุคลากรในรัฐสภา ฯลฯ การจะสร้างความตระหนักให้กับคนกลุ่มนี้คือทำให้เกิดวิสัยทัศน์ภาพใหญ่ร่วมกันว่าประเทศกำลังเผชิญกับอะไร และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะช่วยทำให้วิสัยทัศน์นั้นขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้บริหาร เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้คุมขุมกำลังในจุดต่าง ๆ ของสังคม เช่น ผู้บริหารองค์กรของรัฐ ภาคเอกชน ผู้นำระดับชุมชน เป็นกลุ่มที่จะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยต้องคิดว่าถ้าจะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ จะนำ วทน. เข้าไปช่วยอย่างไร การสร้างความตระหนักให้กับคนกลุ่มนี้ อาจเป็นลักษณะการสร้างการมีส่วนร่วม ให้เข้าไปสนับสนุนการทำงานที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับองค์กร และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มใหญ่มากในสังคม ที่เมื่อได้รับการ reskill/upskill จะสามารถนำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ เข้าไปตอบความขาดแคลนบุคลากรในประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. ได้รวบรวมข้อมูลสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นข้อมูลว่าตำแหน่งงานอะไรที่จำเป็นต่อประเทศ และสมรรถนะ ทักษะที่จะทำงานให้ได้ดีต้องมีอะไรบ้าง
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงโจทย์สำคัญของประเทศที่ วทน. จะสามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนได้ คือ 1) การทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น ผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (future food) อาหารเชิงฟังก์ชัน (functional ingredient) อุตสาหกรรมยานยนต์ ในการพัฒนาให้บริษัทในไทยผลิตรถยนต์ EV ได้ทั้งคัน ฯลฯ 2) การสร้างผู้ประกอบการ หรือผู้เล่นรายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ในปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีกลไกสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็น University Holding Company แล้วหลายแห่ง 3) การขยับสถานะประชากรฐานราก แก้ไขปัญหาโครงสร้างรายได้ของประชากรในประเทศ จากที่คนกลุ่มใหญ่เป็นคนที่อยู่ตรงกลางของพีระมิด มีรายได้เฉลี่ย 7,000 บาท ต้องมีแนวทางขยับสถานะผ่านการดึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าไปช่วยสนับสนุนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ 4) ความยั่งยืน แบ่งเป็น 2 มิติ คือความยั่งยืนของทรัพยากร ตามเป้าหมายของประเทศคือการไปสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อีกมิติหนึ่ง คือผลกระทบกับการค้าและการลงทุน รวมถึงการกีดกันทางการค้า หากไม่ประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และโจทย์สุดท้ายที่จะเชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกันคือ 5) การพัฒนากำลังคนที่จะเข้าไปขับเคลื่อนในทุกด้าน หากมองในระยะยาวต้องเข้าไปพัฒนาระบบการศึกษา ทำ Higher education transformation ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้มีแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) ตัวอย่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีจุดเด่นคือการเปิดโอกาสให้นิสิตที่เรียนจบในแต่ละปีตามโมดูล เมื่อได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองแล้ว สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอจบการศึกษา 4 ปี และยังสามารถสะสมหน่วยกิตที่เรียนแล้วไว้ได้ในคลังหน่วยกิต และกลับมาเรียนต่อเพื่อเพิ่มเติมทักษะหรือปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้
ทั้งนี้ ในงานยังได้มีการจัดประชุมโต๊ะกลม ระดับผู้บริหารและนโยบาย คู่ขนานไปกับการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็น โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มย่อยที่ 1 การพัฒนาต้นแบบการเพาะเลี้ยงหอยนางรม การแปรรูปหอยนางรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มเปลือกหอยนางรมอย่างยั่งยืน กลุ่มย่อยที่ 2 การพัฒนาเครือข่ายต้นแบบการเลี้ยงแพะ/แกะ ปศุสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ด้วยแนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มย่อยที่ 3 การพัฒนาต้นแบบเครือข่ายชุมชนผู้เลี้ยงโคนมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มย่อยที่ 4 การพัฒนาต้นแบบการพัฒนาระบบการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรอัตลักษณ์ชุมชนที่ยั่งยืน กลุ่มย่อยที่ 5 การพัฒนาต้นแบบการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการอนุรักษ์ป่าบนพื้นที่สูง กลุ่มย่อยที่ 6 การพัฒนาต้นแบบการใช้ประโยชน์ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน กลุ่มย่อยที่ 7 มหาวิทยาลัยคาร์บอนต่ำสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ กลุ่มย่อยที่ 8 การพัฒนาต้นแบบโรงเรียนสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน: มิติการเรียนรู้ Earth/Geo Science ระดับท้องถิ่น
สำหรับการจัดประชุมโต๊ะกลม ระดับผู้บริหารและนโยบาย ดร.กิติพงค์ ได้สรุปความเห็นจากข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาขับเคลื่อนทำงานร่วมกันต่อ โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน คือ 1) การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาในระดับพื้นที่ (area-based analysis) 2) สร้างกระบวนการชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายความร่วมมือ 3) ผลักดันข้อริเริ่มให้เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (strategic agenda) ของประเทศ โดยต้องมีกลไกการทำงานที่ชัดเจน 4) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (advance technology) แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) กับอุตสาหกรรมและพื้นที่ 5) การทำให้เกิดความยั่งยืน จะต้องอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับพันธมิตร และเชื่อมโยงกับหน่วยปฏิบัติอย่างมหาวิทยาลัย ลงไปจนถึงกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์