กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงาน AI Engineering & Innovation Summit 2023 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) จัดโดย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) และ สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute – AIEI) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ในงานนี้ นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. ได้รับเชิญให้เป็นผู้แทนของ สอวช. เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ AI Policy & Governance: Global AI Policy and Development โดยมีผู้แทนเข้าร่วมการเสวนา อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน

นางสาวภาณิศา ได้เล่าถึงบทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการดำเนินงานเพื่อพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Higher Education Transformation) รวมถึงข้อริเริ่มสำคัญ (flagship initiatives) เพื่อเพิ่มศักยภาพของกำลังคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการปฏิรูประบบอุดมศึกษา และการพัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การลงทุนของภาคการผลิตและบริการ (Highly skilled Manpower Developmental Platform) AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญภายใต้อุตสาหกรรมดิจิทัล หนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ กลไกการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญ เช่น กลไก Higher Education Sandbox ที่ พัฒนานักศึกษาด้วยหลักสูตรรูปแบบใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ มีมาตรฐานอาชีพ (Professional standards) ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ของโลก เเละบัณฑิตมีความพร้อมทางด้านเทคนิค, soft skill และความพร้อมด้านการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างการทำงานภายใต้ GenNX model ที่เกิดจากริเริ่มของ สอวช. ร่วมกับ เจเนเรชั่นประเทศไทย (Generation Thailand) ในการพัฒนานักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ที่เป็นการสร้างเสริมทักษะแบบเข้มข้น (Intensive course) ผ่านกระบวนการ bootcamp เพื่อ reskill upskill ให้นักศึกษาหรือบุคลากรที่อยู่ในวัยทำงาน หรือบุคคลทั่วไปมีความรู้และสมรรถนะที่พร้อมเข้าสู่ตลาดเเรงงานต่อไป
