กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Advisory Support on Policies to Promote Private Sector Engagement in STI for Cambodia, Lao PDR, Thailand, and Viet Nam ระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 สอวช. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับผู้แทนจาก 4 ประเทศ และได้เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์และความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมให้แก่นักนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์และสตาร์ทอัพ การเสริมสร้างเครือข่ายผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ และการจัดทำคู่มือซึ่งสรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นหลัก การประเมินตนเองด้านนโยบาย และข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในวงกว้าง


การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม (CLTV) (South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนา วทน. ระหว่าง 4 ประเทศดังกล่าว

ประเด็นสำคัญในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ตลอดทั้ง 3 วัน ประกอบด้วย 1. แนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ (Strengthening support for the growth of startups) และ 2. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Engaging the private sector for human capital development) โดยผู้ประชุมได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ 1. การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Building Innovation Ecosystems) โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 2. การเคลื่อนย้ายบุคลากรด้าน วทน. (Talent Mobility for STI) โดย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ 3. การเสริมสร้างเครือข่ายนวัตกรรม – การขยายวงสู่อาเซียน (Boosting Innovation Networks – Scale-up ASEAN: Coach, Cash, Connect) โดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอข้อริเริ่มสำคัญและความท้าทายในบริบทของแต่ละประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในการออกแบบกลไกด้านนโยบาย เครื่องมือที่สำคัญ และแนวทางการใช้ประโยชน์เครือข่ายการทำงานระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมในการพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนในระดับอนุภูมิภาคต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม สามารถเข้าถึงได้ที่: https://www.unescap.org/projects/south-south-triangular-collaboration-programme-science-technology-innovation