กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอ Thai Pavilion เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรหลักร่วมนำเสนอส่วนจัดแสดงนวัตกรรม (Innovation Zone) ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนาน (Side Event) จำนวน 3 เวทีเสวนา เพื่อสะท้อน แลกเปลี่ยนและสื่อสารภารกิจและการขับเคลื่อนของสอวช. ที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30-11.30 (เวลาดูไบ) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย เป็นผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน ภายใต้หัวข้อ “How do non-technological Innovation Concepts Catalyze the Achievement of Net-Zero Emissions?” ร่วมกับวิทยากรอีก 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต และ Prof. Marc Buckley โดย ดร.สุรชัย ได้กล่าวถึงการทำงานของ สอวช. ในการนำนวัตกรรมแบบ non-technological innovation มาใช้ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net-zero ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริม BCG Economy เช่น โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้าน BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) ให้แก่ผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ และการให้ข้อมูลและแนวทางแก่ผู้ประกอบการโดยการพัฒนา BCG Indicator ซึ่ง สอวช.ร่วมกับ SDG Move เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่อกับการเงินสีเขียว สามารถแข่งขันในตลาดโลก และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

นอกจากนี้วิทยากรร่วมทั้ง 3 ท่านยังให้มุมมองการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net-zero ด้วยนวัตกรรมแบบ non-technological Innovation ไว้อย่างน่าสนใจ ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ กล่าวถึงการดำเนินงานในด้านธุรกิจด้วย Leadership Transformation การปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้นำให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากเดิมมองว่าการรับมือจะทำให้เพิ่มต้นทุนหรือภาระแก่องค์กร เป็นการนำความท้าทายนี้มาสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่ และกองทุน SeaX Zero ที่มีการลงทุนใน Tech Startup ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากกองทุน SeaX Zero ซึ่งเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีขั้นสูง

ด้าน รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวถึงการใช้เครื่องมือ Resilience Framework สำหรับการรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. Nature and Environment 2. Living and Infrastructure 3. Society and Economy และกล่าวถึงนวัตกรรมแบบ non-technological Innovation อย่างการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีสีเขียวและการปลูกฝังไลฟ์สไตล์สีเขียวในชุมชนโดยการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมีเป้าหมาย

ในการนี้ Prof. Marc Berkley นักอนาคตศาสตร์ซึ่งอยู่ในวงการการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แลกเปลี่ยนการทำงานที่เกิดขึ้นในระดับสากลเกี่ยวกับการใช้ non-technological innovation มาใช้ในการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตด้วย “Symbiocene” ซึ่งเป็นการสร้างมุมมองในการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นมุมมองที่จะเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนของโลกในทุกระดับ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น และยังเสริมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งมากพอในการเลือกทิศทางที่ยั่งยืนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศโดยไม่ต้องยึดแนวทางที่เกิดขึ้นในประทศอื่นๆ มาใช้แต่เป็นการแสวงหาจุดยืนและจุดแข็งจากองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสมของตนเอง