กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอ Thai Pavilion เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรหลักร่วมนำเสนอส่วนจัดแสดงนวัตกรรม (Innovation Zone) ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนาน (Side Event) จำนวน 3 เวทีเสวนา เพื่อสะท้อน แลกเปลี่ยนและสื่อสารภารกิจและการขับเคลื่อนของสอวช. ที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

เมื่อวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30-10.30 ดร. ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน เป็นผู้นำการเสวนาในเวทีคู่ขนาน ภายใต้หัวข้อ “The Influence of Higher Education in Driving Innovation Toward Achieving Net Zero” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาบนเวทีอีก 3 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน คุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ และ Dr. Benjamin Schmitt ซึ่งเวทีเสวนาได้ฉายภาพการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีจากสถาบันอุดมศึกษา โดย ดร. ชนาธิป ผาริโน ได้นำเสนอการทำงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน การพัฒนาความยืดหยุ่นในระบบการใช้พลังงาน การสร้างการเพิ่มขึ้นของสีเขียว การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และการมีระบบที่ช่วยสนับสนุน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนด้วย

ในส่วนของภาคเอกชนอย่างคุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ ผู้ทำธุรกิจและนวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องย่อยขยะเศษอาหาร (Food waste) บริษัท โอ๊คลิน ได้มีการสร้างความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยการจัดตั้งหน่วยกำจัดขยะโดยเฉพาะขยะที่มาจากอาหาร ซึ่งช่วยให้การจัดการขยะจากเศษอาหาร (Food waste) เกิดประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบสารปรับปรุงดินได้ ส่งผลให้ลดปริมาณขยะที่ต้องถูกกำจัดต่อสัปดาห์ได้ รวมทั้งลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาพรวมได้

สำหรับผู้ร่วมเสวนาท่านสุดท้าย Dr. Benjamin Schmitt จาก Kleinman Center for Energy Policy มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เล่าถึงงานที่กำลังดำเนินงานของโครงการ Advanced Simons Observatory (ASO) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนสำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวในพื้นที่ห่างไกล เช่น หอดูดาวในพื้นที่กลางทะเลทรายประเทศชิลี ด้วยหลักการของ Photovoltaic Array (PVA) หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์และกล้องโทรทัศน์ในหอดูดาว จึงเชื่อได้ว่าสถานีดูดาวแห่งนี้ใช้พลังงานสีเขียวอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวอีก เช่น การลดขยะและเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่ของวัสดุ การนำรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการขนส่งภายในพื้นที่ และการขยายงานที่สำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
