เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดสัมมนา “ปลดล็อกมหา’ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท” ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยเชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากรมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้สนใจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.เป็นประธานเปิดการสัมมนาและบรรยายในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายราเมศวร์ ศิลปพรหม CEO บริษัท CU Enterprise จำกัด มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในฐานะตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนหรือ Holding company
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ “ธุรกิจนวัตกรรม” Innovation Driven Enterprise หรือ IDE ผ่านการปลดล็อกอุปสรรค และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และได้วางเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีมูลค่าเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย หรือมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570
ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สอวช. ได้สนับสนุนทางการเงิน บุคลากร ที่ปรึกษา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมไปถึงกฎระเบียบที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านการจัดตั้งกองทุน ววน. จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน และมีการออกระเบียบสภานโยบายว่าด้วยการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ทุนโดยตรงแก่ภาคเอกชนได้ ภายใต้แนวทางและกระบวนการที่มีความชัดเจน ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การให้ทุนด้าน ววน. มีความครอบคลุม สามารถตอบเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศได้
นอกจากนี้ สอวช. ร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย จัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดหลักเปิดเผย โปร่งใส และมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม และยังได้ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถขอเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์
ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวอีกว่า สอวช. มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนผ่านกลไกการจัดตั้ง Holding Company ซึ่งจะเป็นบริษัทนิติบุคคลที่เข้ามาทำการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมในรูปแบบที่มีความคล่องตัวและเป็นมืออาชีพ โดย สอวช. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติหรือ Guideline รวมไปถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ ในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความชัดเจนในส่วนนี้ โดยจะเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสามารถร่วมลงทุนและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมด้วยทรัพยากรของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังได้ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนให้มีหน่วยงานตัวกลาง เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iBDS (Innovation Business Development Service) ซึ่งที่ปรึกษาเหล่านี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมของธุรกิจได้อย่างตรงจุด
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายในหัวข้อ “อุทยานวิทยาศาสตร์ กับหุบเขาแห่งความท้าทาย Valley of Challenge” โดยระบุว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ คือพลังของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เป็นนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ สร้างธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ เพื่อทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ จากการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคตั้งแต่ปี 2556 – 2565 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ให้บริการ 12,384 ราย ผู้ประกอบการเทคโนโลยี 1,123 ราย สร้างฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 58,038 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 54,294 คน นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ยังสร้างคนให้เป็นเจ้าของกิจการ สนับสนุนนักศึกษาให้เป็นเจ้าของกิจการ พัฒนาผู้ประกอบการเป็น IDE และพัฒนานักวิจัยและนวัตกร
ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวด้วยว่า มช. ให้ความสำคัญกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผู้ประกอบการ เนื่องจากทักษะของผู้ประกอบการจำเป็นต่อทักษะในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Tech Spin-off จาก มช. เกิดการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากขึ้น และที่สำคัญเป็นเครื่องมือช่วยเร่งการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการระดับโพนี่ (Pony) คือมีรายได้ 300 ล้าน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในเกณฑ์หลายราย
ด้านนายราเมศวร์ ศิลปพรหม CEO บริษัท CU Enterprise จำกัด บรรยายในหัวข้อ “ปั้นงานวิจัยสู่ธุรกิจนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า เป้าหมายของ CU Enterprise คือสร้างรายได้จากธุรกิจนวัตกรรมให้ได้ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่ออาจารย์ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ โดยอาจารย์สามารถใช้ Spin-off เป็น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำสอนนิสิตยุคใหม่ สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อสังคม และมีทุนวิจัยต่อเนื่อง ส่วนมหาวิทยาลัยก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศ และจะทำให้มีนักวิจัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หาก Spin-off สำเร็จจะมีเงินวิจัยปีละ 5,000 ล้านบาทต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้งบของมหาวิทยาลัย ในส่วนของประเทศก็จะสามารถยกระดับพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
ในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาเชิงซักถามในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมการจัดตั้ง University Holding Company ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเป็นเวทีในการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายหรือระเบียบที่ สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลดล็อกข้อจำกัดในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานใน Holding Company ที่ได้รับการสนับสนุนจากการสร้างระบบบนิเวศนวัตกรรมข้างต้นด้วย