ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนายปริพัตร บูรณสิน อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) และคณะ เข้าร่วมหารือกับอาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี และ ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้ช่วยอธิการบดี เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมประดู่ส้ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต (มทร. อีสาน) ขอนแก่น
จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ยานยนต์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีอาจารย์ประพันธ์ ยาวระ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะ ให้การต้อนรับและนำชมศูนย์การเรียนรู้ ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมชุดสาธิตการทำงานของยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงทั้งระบบ จากนั้น ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมด้านระบบรางและการขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำชมรถไฟรางเบา (Tram) ที่ได้รับจากบริษัท Hiroshima Electric Railway ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ณ อาคารปฏิบัติการซ่อมบำรุงรถไฟ (DEPOT)
ทั้งนี้ มทร. อีสาน ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เนื่องจากเป็นหัวใจในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ได้มีการปรับปรุงและอยู่ระหว่างการปรับปรุง เช่น หลักสูตรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และหลักสูตรด้านวิศวกรรมระบบราง เป็นต้น
สำหรับหลักสูตรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนั้น ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มีเพียงหลักสูตรระยะสั้นเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยใช้ชื่อหลักสูตรระยะสั้นว่า “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ปัจจุบันมีผู้ผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้ว 3 รุ่น จำนวนประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่า มทร. ซึ่งเป็นครูช่างในวิทยาลัยเทคนิค เจ้าของอู่ซ่อมรถ และ อู่ซ่อมสี ผู้ที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวสามารถจัดทำแบตเตอรี่แพ็คได้เอง และต่อวงจรขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าด้วยตนเองได้ ในส่วนของสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ทางหลักสูตรเห็นว่าภาครัฐควรสนับสนุนชิ้นส่วนมูลค่าสูงสำหรับการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และ ชุดควบคุม เพื่อให้เข้าถึงชิ้นส่วนดังกล่าว และสามารถดำเนินการดัดแปลงได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนอุปกรณ์ทดสอบมอเตอร์และทดสอบแพ็คแบตเตอรี่ รวมถึง อุปกรณ์ปฏิบัติงาน เช่น เครื่องเชื่อมขั้วแบตเตอรี่ด้วยวิธี Laser หรือ Ultrasonic
สำหรับหลักสูตรด้านวิศวกรรมระบบรางนั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดสอน 3 หลักสูตรได้แก่ ปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา เอกวิศวกรรมโยธาระบบราง สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เอกวิศวกรรมเครื่องกลระบบราง และสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เอกวิศวกรรมไฟฟ้าระบบราง เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งสามหลักสูตรประมาณ 250 คน สำเร็จการศึกษารวมประมาณ 50 คน ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรทั้ง 3 สามารถขอใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กว.) และประกอบอาชีพในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับระบบรางได้ ในส่วนของการดำเนินงานที่ผ่านมาของหลักสูตร ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ได้ส่งอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ด้านพื้นฐานระบบรางจำนวน 30 คน และด้านเฉพาะระบบรางจำนวน 10 คน และส่งอาจารย์ไปอบรมหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (วศร.) ตั้งแต่รุ่นที่ 6–11 สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมนั้นประกอบด้วย 1. การสนับสนุนให้บัณฑิตได้งานทำในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อาทิ BTS BEM รฟท. และการสนับสนุนงบประมาณจัดทำรางทดสอบ (Test Track) ทั้งแบบ Standard Gauge และ Meter Gauge ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ สกสว. และสำนักงบประมาณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี และคณะ เข้าเยี่ยมชมต้นแบบรถไฟรางเบา (แทรมน้อย) ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า และต้นแบบรถแท็กซี่ไฟฟ้าดัดแปลง ณ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย บพข. สอวช. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สกสว. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
จากนั้น รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้เกียรติบรรยายเรื่องยุทธศาสตร์และภาพรวมระบบขนส่งทางรางของ มทร.อีสาน คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม บรรยายเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมความพร้อมสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาโครงการวิจัยรถไฟฟ้าระบบรางเบาต้นแบบนำเสนอ KHONKAEN model Clear Care Fair Share ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น (เคเคทีที) จำกัด บรรยายเรื่องขอนแก่น Smart City อาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย: เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม บรรยายเรื่องการวิจัยพัฒนาและผลิตชิ้นส่วน Taxi EV
ขอขอบคุณรูปภาพจาก มทร. อีสาน