messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมประชุม CTCN Regional Forum for National Designated Entities of Asian Countries ปี 2562 ขึ้นเวทีแบ่งปันประสบการณ์ของไทย กับการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่เชื่อมโยงระหว่างกลไกเทคโนโลยีและกลไกทางการเงินของอนุสัญญา UNFCCC โครงการด้านเทคโนโลยีโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจาก GCF Readiness

สอวช. ร่วมประชุม CTCN Regional Forum for National Designated Entities of Asian Countries ปี 2562 ขึ้นเวทีแบ่งปันประสบการณ์ของไทย กับการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่เชื่อมโยงระหว่างกลไกเทคโนโลยีและกลไกทางการเงินของอนุสัญญา UNFCCC โครงการด้านเทคโนโลยีโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจาก GCF Readiness

วันที่เผยแพร่ 10 กันยายน 2019 619 Views

เมื่อวันที่ 2-3 กันยายน  2562 ที่ผ่านมา ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุม CTCN Regional Forum for National Designated Entities of Asian Countries ประจำปี 2562 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)

การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียรวม 14 ประเทศ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ รวมกว่า 40 คน โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละประเทศแลกเปลี่ยนบทเรียนและแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนให้แต่ละประเทศเสนอแนะทิศทางการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับบริบทของภูมิภาคในอนาคต

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ได้กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญและมีความจำเป็นในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีบทบาทที่เข้มแข็งในการดำเนินงานด้านนี้ และยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการผ่านศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่ายด้วย นอกจากนี้ สอวช. ยังได้แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องร่วมแรงร่วมใจต่อสู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดนนี้ พร้อมเสนอถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศต่าง ๆ จะพัฒนาข้อเสนอโครงการด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

ด้าน นางสาวอรนุช รัตนะ ผู้แทนหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ได้แบ่งปันประสบการณ์ต่อที่ประชุมในหัวข้อ “Thailand’s GCF Readiness experience: Linking CTCN Technical Assistance project to the GCF Readiness Programme” ซึ่งเป็นการแบ่งปันเกี่ยวกับประสบการณ์ของประเทศไทยในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่เชื่อมโยงระหว่างกลไกเทคโนโลยีและกลไกทางการเงินของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC : United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคีของอนุสัญญาฯ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองกลไกให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ โครงการของประเทศไทยถือเป็นโครงการด้านเทคโนโลยีโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมกองทุนภูมิอากาศสีเขียว GCF Readiness (Green Climate Fund Readiness) ภายใต้กลไกลทางการเงินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนถึงบทบาทที่ชัดเจนของไทยในการร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (CTCN) นอกจากจะมีบทบาทในการให้การสนับสนุนโครงการที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสาธิตเทคโนโลยีแล้ว ยังสนับสนุนโครงการที่พัฒนานวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานในประเทศไทยที่ต้องการรับการสนับสนุนโครงการตามลักษณะข้างต้น สามารถส่งข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (CTCN) ได้โดยผ่าน สอวช. ในฐานะผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุม CTCN Regional Forum และติดตามผลการประชุม ได้ที่  https://www.ctc-n.org/calendar/events/ctcn-regional-forum-asia-3

Tags:

เรื่องล่าสุด