messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ขานรับนโยบาย “อว. For EV” ตั้งเป้าผลิตบุคลากรเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แก้ไขปัญหาโลกร้อน และลดฝุ่นพิษ PM 2.5

กระทรวง อว. โดย สอวช. ขานรับนโยบาย “อว. For EV” ตั้งเป้าผลิตบุคลากรเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แก้ไขปัญหาโลกร้อน และลดฝุ่นพิษ PM 2.5

วันที่เผยแพร่ 21 กุมภาพันธ์ 2024 1230 Views

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง รมว.อว. เป็น ‘บอร์ดอีวี’ โดยมีการแถลงเปิดตัวนโยบาย “อว for EV” ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดเป้าหมาย 30@30 ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ EV Hub และ 10 อันดับแรกของโลกในการผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย ในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ก่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง สร้างอนาคตที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กระทรวง อว. มีการปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็น แผนงานสำคัญ (Flagships) ของกองทุน ววน. และมีนโยบายในการผลักดัน 3 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 1. EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมอบหมายให้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยมีหน่วยงานภายในกระทรวงจำนวนมาก อาทิเช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เป็นต้น ร่วมดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า บทบาทของ สอวช. ในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายใต้ อว. และหน่วยงานภายนอก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV-HRD ผ่านการสร้างและพัฒนา UP SKILL, RE SKILL และ NEW SKILL จำนวน 150,000 คนภายใน 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 5,000 คนต่อปี โดยผ่านกลไกสนับสนุน เช่น การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม การให้สิทธิพิเศษหรือส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในอุตสาหกรรม EV การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้รองรับอุตสาหกรรม EV และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการผลิตและพัฒนาอย่างเร่งด่วน

นางสาวศุภมาส กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบาย “อว. For EV” ถือเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV ยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ และมีความเชื่อว่านโยบายทั้ง 3 แผนงานนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งนอกจากช่วยยกระดับความความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไม่เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการเปิดตัว สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (สดป.) หรือ Electric Vehicle Conversion Association of Thailand (ECAT) สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดตัวสมาคมฯ และถ่ายรูปร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ เป็นที่ระลึก

สมาคมฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2566 โดยกลุ่มวิศวกร นักวิชาการ นักอุตสาหกรรม และผู้ที่สนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จำนวนรวม 19 หน่วยงาน ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยไปสู่อุตสาหกรรมแล้ว ยังจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคน ยกระดับการพัฒนาด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และเป็นพื้นที่ว่างตรงกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ จากทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ขอบคุณภาพถ่ายจาก บพข. และ สวทช.

เรื่องล่าสุด