(5 กันยายน 2562) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมคณะ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ (สป.อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนผู้แทนจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท Microsoft บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก มีฐานการผลิตอยู่ ณ เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตันโดยในโอกาสดังกล่าวได้รับเกียรติจาก Mr. Anthony Salcito, Vice President Worldwide Education & Public Sector Industry และคณะผู้บริหารของ บริษัท Microsoft ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปเกี่ยวกับ แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังได้นำเสนอกรอบการดำเนินการพัฒนาการศึกษา (Education Transformation Framework) ของบริษัท Microsoft ที่ใช้ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการเพิ่มทักษะ (Upskill) ด้านดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างคนในศตวรรษที่ 21 ที่มีความต้องการใช้กำลังคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมได้นำคณะของเข้าเยี่ยมชม Microsoft Campus ที่มีการจัดแสดงผลงานด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย
ด้าน รมว.อว. ได้กล่าวถึงพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่าเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะการใช้แนวคิด BCG Model (B-Bio Economy, C-Circular Economy และG-Green Economy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันกับ บริษัท Microsoft ต่อไปในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าหากเกิดความร่วมมือขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมการจัดการศึกษาสมัยใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัท Microsoft จะมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) กับสถาบันอุดมศึกษาไทย 25 แห่ง และจะขยายผลไปยังสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สนใจ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย AI และการจัดทำ Microsoft Academy and Certifications ต่อไป