(5 มีนาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “STEMPlus Platform การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย” โดยมีผู้แทนจาก สอวช. กรมสรรพากร สำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สำคัญ

ในช่วงแรก ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงที่มาและความจำเป็นของ STEMPlus Platform กำลังคนสมรรถนะสูง ว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าจำนวนแรงงานบางสาขาไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน จึงได้ออกแบบ STEMPlus Platform ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และภาครัฐ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต จากการดำเนินงานรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการจ้างงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ หรือ STEM มาตรการ Thailand Plus Package ผ่าน STEMPlus Platform มีการรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM แล้ว 5,725 ตำแหน่งงาน และมีเป้าหมายให้มีการจ้างงาน STEM เพิ่มขึ้นถึง 10,000 ตำแหน่งงานภายในปี 2567 ขณะที่หลักสูตรฝึกอบรมผ่านการรับรองแล้วกว่า 800 หลักสูตรซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในทักษะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแล้วกว่า 80,000 ราย และคาดว่ากำลังแรงงานของไทยจะได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นถึง 100,000 ราย ภายในปี 2567 นี้


อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้แนะนำ STEMPlus Platform บริการที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และบุคคลทั่วไป อาทิ การขอรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM และการขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร มาตรการ Thailand Plus Package การแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน การเผยแพร่หลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. การฝากประวัติสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ และสถิติกำลังคนด้าน STEM รวมทั้งแนะนำสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ที่ สอวช. ได้รับความไว้วางใจจากกรมสรรพากรในการพิจารณารับรองการจ้างงาน STEM และการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องตามมาตรการ มาเป็นระยะที่ 3 ต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งแนวทางการยื่นคำขอฯ ให้ผ่านการรับรอง


นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย การพัฒนากำลังคนสมรรถนะ
สูงและสิทธิประโยชน์สนับสนุน โดยมี นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร และ ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายกานต์ ได้กล่าวชื่นชมโครงการ STEMPlus ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรทักษะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งได้นำเสนอแพลตฟอร์มนี้ต่อเครือข่ายนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ล่าสุด พบว่าประเทศไทยอยู่ในดับดีขึ้นในทุกปัจจัย ทั้งสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของธุรกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในด้านการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีอันดับที่ลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมาหารือกัน เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงกติกาโดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ในทุกอุตสาหกรรมจะต้องคำนึงถึงและปรับตัว การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างแน่นอน

ด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทาย 4 อย่าง ได้แก่ 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจช้า โดยเฉลี่ยในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 3.2% เท่านั้น 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กระทบต่อเรื่องการค้าและการลงทุน บริษัทส่วนใหญ่เริ่มสร้าง green profile เวลาจะทำความร่วมมือ จึงต้องคำนึงในเรื่องนี้ ถ้าเราเข้าไปอยู่ในกติกาโลกก็ต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ด้วย 3. การกระจายรายได้ ยังมีกลุ่มประชากรที่อยู่ฐานของพีระมิด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและชนบท ยากต่อการขยับ เราต้องทำให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาขึ้น และ 4. การพัฒนาคน ที่ต้องพัฒนาแรงงานทักษะสูง เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ชูพลังศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นที่หนึ่งในระดับภูมิภาคได้ใน 8 ฮับ ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ 3. ศูนย์กลางเกษตรกรรมและอาหาร 4. ศูนย์กลางการบิน 5. ศูนย์กลางการขนส่ง 6. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. ศูนย์กลางการเงิน

ด้าน นางสาวเสาวคนธ์ ได้พูดถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนากําลังคน อาทิ การส่งเสริมการลงทุนด้วยการหักรายจ่ายการลงทุนระบบอัตโนมัติ (automation) สนับสนุนการจ้างงานทักษะสูง โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ หักรายจ่ายการจ้างงานผู้มีทักษะสูงด้าน STEM ได้ 1.5 เท่า และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการหักรายจ่ายการส่งพนักงานในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างในหลักสูตรทักษะสูงได้ 2.5 เท่า

ขณะที่ ดร.อรรถวิทย์ กล่าวว่า ในแวดวงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เราได้เตรียมรับมือกับวิกฤตด้านเทคโนโลยีมาแล้วกว่า 10 ปี และติดตามสถานการณ์ด้านดิจิทัลมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าวิกฤตด้านดิจิทัลต้องมาแน่ และยิ่งในสถานการณ์ภาวะโลกเดือด สังคมผู้สูงอายุ อัตราเกิดลดลง ยิ่งต้องเร่งวางแผนพัฒนาเด็กที่มีอยู่น้อยให้มีคุณภาพสูง ซึ่งศาสตร์ทางด้านดิจิทัล จะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมาหลักสูตรต่าง ๆ ไม่ได้ถูกปรับปรุงมากว่า 30 ปี ดังนั้นเพื่อสนองตอบการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างแบบเดิม จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต



