กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ครั้งที่ 2 (1/2567) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รอง ผอ. สกสว. กล่าวเปิดการประชุม โดยมีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องแมนดารินซี โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกัน เดิมทีที่ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง consortium ระหว่าง สอวช. สกสว. และหน่วยงานพันธมิตร ได้มาร่วมคิดว่าจะทำอะไร ขับเคลื่อนเรื่องอะไร จนสุดท้ายได้มีการพัฒนามาถึงวันนี้ เริ่มเห็นภาพการทำงานชัดเจนมากขึ้น เห็นมุมของการร่วมกันทำงานที่จะเป็นความหวังในการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หน่วยงานที่ทำภาพกว้างอย่าง สอวช. สกสว. ที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในเชิงนโยบายหรือการทำแผน ไปจนถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือภาคเอกชนที่ให้ความสนใจในประเด็นด้านเทคโนโลยี และมองเห็นประเด็นสำคัญที่จะส่งต่อไปสู่การดำเนินงานของภาครัฐ ในการปลดล็อกด้านต่าง ๆ ทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงการให้ทุน ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการให้ทุนสนับสนุนโครงการที่มีแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ดร.สุรชัย ยังให้ความเห็นว่า แนวทางการทำงานในรูปแบบ consortium จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าเมื่อก่อนที่เราจะทำแต่งานวิชาการ นอกจากนี้ เรายังทำงานใกล้ชิดกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเอาสิ่งที่ได้คิดและหารือร่วมกันในเครือข่ายไปใช้ประโยชน์จริงในมุมของภาครัฐและนโยบาย
“การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวทีที่สร้าง Demand และ Supply side ให้มาเจอกันผ่านการแลกเปลี่ยนและรายงานความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญ และการดำเนินงานในประเด็นสำคัญของ Net Zero Emission ต้องให้ภาคเอกชนเป็นคนนำ และภาครัฐ ภาคการศึกษาเป็นผู้สนับสนุนตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี คิดว่าเวทีนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป” ดร.สุรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมยังได้มีการแลกเปลี่ยนถึงประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสและความท้าทายของ Low Carbon Hydrogen โดย ผู้แทนบริษัท Linde Thailand BIG และผู้แทนบริษัท BIG กล่าวถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อน CCUS Technology Roadmap โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CCUS เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในหัวข้อ Carbon Capture and Utilization Technology โดย ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหัวข้อ Carbon Dioxide Capture Process Simulation โดย รศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับการดำเนินงานของ สอวช. ในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญการทำงานลดก๊าซเรือนกระจกในภาคสถาบันการศึกษา มุ่งเน้นพลังมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนสู่ Net Zero เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ บุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นฐานที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยี (Technology Transfer and Localization) และพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของการไปสู่เป้าหมาย สอวช. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จึงสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระดับแพลตฟอร์มเครือข่ายมหาวิทยาลัย (Net Zero Campus) เพื่อลดข้อจำกัดการขับเคลื่อน และได้ขยายความร่วมมือเพิ่มกับ สกสว. และ สส. เพื่อให้มีทรัพยากรสนับสนุนและเป็นรูปธรรมในระดับประเทศมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนา “พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)” และเปิดตัวโครงการ Net Zero Campus ด้วยความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงาน ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นี้