กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมพิธีเปิดโครงการตลาดสินค้าวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ชุมชนจรเข้สามพัน ณ บริเวณสวนป่าวังมัจฉา หมู่ที่ 6 ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 โดยมี นายดรณ์ สมิตะเกษตริน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้กล่าวต้อนรับ นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนายณรงค์ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลจรเข้สามพัน ประธานคณะทำงานการพัฒนาชุมชนจรเข้สามพัน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โครงงานของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 27 สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มบ้านบำรุงเมือง
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การเปิดตลาดวัฒนธรรมริมน้ำจรเข้สามพันครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงงานนักศึกษา ปปร. กลุ่มบ้านบำรุงเมือง ร่วมกับ สอวช. ที่ได้เข้ามาจัดกระบวนการให้กับผู้นำและประชาชนในชุมชน ร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่จรเข้สามพันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศที่ยั่งยืน ซึ่งนักศึกษา ปปร. รุ่นที่ 27 ได้ลงพื้นที่จัดกระบวนการการคิดและออกแบบสร้างสรรค์ หรือ design thinking โดยมีผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ออกความคิดเห็นและได้ร่วมจัดทำออกมาเป็น 5 แผนงานด้วยกัน ประกอบด้วย 1) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) การสร้างความสามัคคีและสำนึกรักท้องถิ่น 3) การป้องกันยาเสพติด 4) การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพ และ 5) การฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรม
“การจัดตลาดวัฒนธรรมริมน้ำจรเข้สามพันเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานทั้ง 5 ให้เกิดผล โดยเป็นการดำเนินงานของชุมชนเอง ที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นประชาคมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนแผนงานทั้ง 5 ไปข้างหน้า และเป็นที่น่ายินดีที่แผนงานนี้ ได้รับการบรรจุลงในแผนพัฒนาตำบล และอยู่ระหว่างประสานงานให้อยู่ในแผนของระดับอำเภออู่ทอง อีกทั้งกำลังประสานงานเพื่อพัฒนามุ่งให้เกิดเป็นแผนงานระดับจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป การจัดตลาดวัฒนธรรมฯ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชน ที่ประชาชนและผู้นำชุมชนเป็นเจ้าของ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาชุมชนจรเข้สามพัน และอำเภออู่ทองที่จะมีความยั่งยืนต่อไป” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับโครงการตลาดสินค้าวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เกิดขึ้นหลังจากที่ สอวช. ได้จัดกิจกรรมการคาดการณ์อนาคต (foresight) สร้างเป้าหมายร่วม และการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ให้แก่ชุมชนจรเข้สามพัน โดยมีนักศึกษา ปปร. รุ่นที่ 27 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมสนับสนุน ทำให้ปัจจุบันชุมชนได้มีการจัดตั้งประชาคมพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมขึ้น และมีการจัดทำแผนงานพัฒนาชุมชนเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาอำเภอ และแผนพัฒนาจังหวัดตามลำดับ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภูมิปัญญาในชุมชนเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งอาชีพ การจ้างงานและรายได้ให้ประชาชนในชุมชนที่มั่นคง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์คุณค่าฐานวัฒนธรรมของชุมชนด้วย ซึ่งการจัดให้มีตลาดสินค้าวัฒนธรรมขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นพื้นที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าวัฒนธรรมและส่งเสริมกิจกรรมวัฒนธรรมของพื้นที่ด้วย