messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้รับเชิญปาฐกถางาน OECD Global Forum on Technology แลกเปลี่ยนประเด็นและโอกาสเชิงนโยบายสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้รับเชิญปาฐกถางาน OECD Global Forum on Technology แลกเปลี่ยนประเด็นและโอกาสเชิงนโยบายสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่เผยแพร่ 24 เมษายน 2024 480 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญให้ปาฐกถาในงาน Global Forum on Technology (GFTech) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ร่วมกับ Mr. Ulrik Vestergaard Knudsen รองเลขาธิการ OECD Ms. Aisén Etcheverry Escudero รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรม ประเทศชิลี และ Mr. Mohammed Belhocine กรรมาธิการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา โดยมีธีมงานคือ “การสร้างอนาคต: ประเด็นและโอกาสเชิงนโยบายสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่”

ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ที่จะส่งผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย ในเชิงนโยบายประเทศไทยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพโดยได้ส่งเสริมการลงทุน Biocomplex ในหลายจังหวัด สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และหนุน New S-Curve เทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่จะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในกลุ่มมันและอ้อย จากการผลิตแป้งที่มีราคาถูก เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ได้แก่ กลุ่มอาหารและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน (functional food and functional ingredients) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และโปรตีนทางเลือก (alternative protein)

อีกทั้ง ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวถึงนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับ SME และการพัฒนากำลังคนผ่านหลักสูตรแซนบ็อกซ์ ที่ช่วยสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง ลดระยะเวลาการเรียนและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน กว่า 70 บริษัทได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ การสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างอนาคตร่วมกัน

ทั้งนี้ ในงาน GFTech ยังมี นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) เป็นวิทยากรตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการเสวนา เรื่อง การผลิตอย่างยั่งยืน: เศรษฐกิจชีวภาพและอื่น ๆ นายกิตติพงศ์ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ในโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) ที่มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์จำนวนมาก นโยบายการดึงดูดการลงทุนของภาครัฐ และความพร้อมของประเทศไทยด้านการขยายขนาด (scale up) ที่จะเชื่อมโยงและส่งต่อการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน

ในงานยังมีวงเสวนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ นวัตกรรมด้านสาธารณสุข การปรับตัวด้านเกษตรอาหารและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในงาน ได้แก่ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ยีนไดรฟ์ (gene drive) และเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย ภาครัฐ และสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเน้นย้ำ คือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและความสำคัญของนโยบายภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ได้แก่ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี การสร้างศักยภาพด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการตรวจสอบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่รวดเร็ว การผ่อนปรนและลดอุปสรรคด้านกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ การสื่อสารและสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่จะสร้างผลกระทบสูงและสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยา อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ควรสื่อสารและส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อการสร้างนวัตกรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี

สำหรับการจัดงาน GFTech ในอนาคตจะยังมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ร่วมกันต่อไป

เรื่องล่าสุด