messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ SDG Move นำเสนอเครื่องมือตัวชี้วัด BCG เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางสนับสนุน MSME ภายใต้ภาวะโลกเดือด

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ SDG Move นำเสนอเครื่องมือตัวชี้วัด BCG เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางสนับสนุน MSME ภายใต้ภาวะโลกเดือด

วันที่เผยแพร่ 24 เมษายน 2024 646 Views

(24 เมษายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมนำเสนอผลการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการประเมิน BCG สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.ศรวณีย์ กล่าวถึงภารกิจของ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มุ่งเน้นสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ รวมถึงการปลดล็อกเชิงระบบที่จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company การปลดล็อกหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ สอวช. ยังมีบทบาทเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่เป็นการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับนานาชาติในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลไกที่ สอวช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เราเห็นว่าประเด็นเรื่อง Net Zero Emissions ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มลงมือทำ ในแง่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ Green supply chain ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมหรือการหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีความมุ่งหมายอยากให้ห่วงโซ่อุปทานมีการปรับตัว เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องมีเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเข้ามาช่วยทำให้เกิดการปรับตัวได้ เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น สิ่งที่ได้จากงานในครั้งนี้จึงช่วยเกิดประโยชน์กับการพัฒนาเชิงระบบของประเทศต่อไป” ดร.ศรวณีย์ กล่าว

ในงานได้มีการนำเสนอเครื่องมือตัวชี้วัด BCG เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจ MSME ไปสู่ความยั่งยืน โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move และ Co-manager เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Sustainable Development Solutions Network: SDSN Thailand)

ผศ.ชล กล่าวถึงภาพรวมของโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ ศึกษาและออกแบบแนวทางการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG มาประยุกต์ใช้ในระบบการประเมิน เพื่อนําไปสู่เครื่องมือทางการเงิน สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ และกฎระเบียบด้านมาตรฐานต่าง ๆ หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเสนอแนะหน่วยงานที่มีศักยภาพในการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ไปประยุกต์ใช้ และสร้างการยอมรับเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากการดำเนินการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมกันระหว่าง สอวช. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ SDG Move ได้เป็นมิติของตัวชี้วัด BCG แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1. Sustainability management: หน่วยงานมีการจัดการความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี 2. Value Chain: หน่วยงานมีการผนวกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ Bio, Circular and Green Economy เข้าไปในห่วงโซ่คุณค่าของหน่วยงานตลอด Life Cycle ของสินค้าบริการ 3. Governance: หน่วยงานมีระบบ กลไก นโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดการภายในอื่น ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG 4. Innovation: หน่วยงานมีการใช้และพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ซึ่งแนวทางการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ไปใช้ แบ่งเป็น 1. Self-assessment: ใช้เพื่อการประเมินตนเองของบริษัท 2. Self-Declaration: เป็นวิธีการรับรองมาตรฐานที่อาศัยการดำเนินการภายในของหน่วยงานเจ้าของเกณฑ์ และ 3. Inspection Body และ Certification Body: ควรเป็นการดําเนินงานในระยะหลังจากที่เจ้าของเกณฑ์มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ระบบการสนับสนุน MSME ภายใต้ภาวะโลกเดือด” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.เพชรมณี ดาวเวียง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สสว. ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ เลขาธิการเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP) และ ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) ดำเนินรายการโดย ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. โดยในวงเสวนาได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์โลก ความท้าทายการของทำธุรกิจในยุคโลกเดือด การดำเนินการด้านมาตรการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME ในการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ อาทิ การสนับสนุนในการสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ประกอบการ การสนับสนุนในการจัดฝึกอบรม บ่มเพาะผู้ประกอบการ การเข้าถึงตลาด การสนับสนุนด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไปจนถึงการช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

เรื่องล่าสุด