(30 เมษายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ จัดโดย Carbon Markets Club DID YOU KNOW? The Webinar Series ครั้งที่ 19 (4/2567) ในหัวข้อ “Climate Governance & Finance for Climate Transition” โดยมีผู้ร่วมการบรรยาย ได้แก่ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลก ผู้รับผิดชอบประเทศไทย
ดร.ศรวณีย์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการดำเนินงานเพื่อนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) โดยแบ่งเป็น 3 บทบาทหลัก ได้แก่ 1) การเป็นหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. ผ่านการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน 2) การเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ผ่านการทำงานร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 3) การเป็นหน่วยประสานงานด้านการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
“แผนงานพัฒนากลไกนวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศในระยะ 5 ปี แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) การนำร่องนวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบในจังหวัดสระบุรี จังหวัดระยอง และอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2) การขับเคลื่อนให้เกิดมหาวิทยาลัยที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) และ 3) การปรับกฎระเบียบ ระบบมาตรฐานการตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Verification Standard: CVS) และการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ” ดร.ศรวณีย์ กล่าว
สอวช. ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการริเริ่มจัดตั้ง SRI Consortium for Net zero เพื่อเป็นคณะทำงานกลางของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทั้งในประเด็นด้านนโยบายและแผน Foresight Thinking ศูนย์รวมข้อมูลการดำเนินงานด้าน ววน. และการใช้ประโยชน์จาก ววน. เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในทุกภาคส่วนของประเทศ ในด้าน Net Zero ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และพัฒนาเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ และยกระดับความสามารถด้าน ววน. ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ดร.ศรวณีย์ ยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อเข้าถึง Climate finance การพัฒนากลไกนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสีเขียว การสร้างธุรกิจสีเขียวที่พยายามเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Green Supply Chain) รวมถึงแนวทางส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ BCG