กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้หารือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายใต้หัวข้อ Shared challenges, transformative actions ที่เกี่ยวข้องกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก
ในการประชุมโต๊ะกลมระดับสูง ญี่ปุ่น-อาเซียน ด้าน วทน. ซึ่งเป็นการประชุมข้างเคียงของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ นางสาวศุภมาส ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความสำคัญของ วทน. ในการรับมือกับความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ อันได้แก่ การติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ความแตกต่างทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแผนปฏิบัติการอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้าน วทน. ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้าน วทน. ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2569-2578) ในการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัยร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยประเทศไทยจะเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นผ่านการยกระดับด้าน วทน.
นางสาวศุภมาส ยังได้เข้าร่วมการประชุมภาคีเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับสูง โดยเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ การกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคต และการสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะที่หลากหลาย โดยได้ยกตัวอย่างข้อริเริ่มแพลตฟอร์มนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการด้านนโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ผ่านการรวมกลุ่มของผู้ที่สนใจบนแพลตฟอร์มซึ่งจะมีการนำร่องใช้งานในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
ในการประชุมครั้งนี้ สอวช. ได้เข้าร่วมในการเจรจาระดับสูงของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multistakeholder High-Level Dialogue) ระหว่างการประชุมคู่ขนานในห้องย่อยวาระการมีส่วนร่วมกับสังคมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรม โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนอย่างแข็งขันเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการกำหนดความรับผิดชอบและโอกาสการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจัดตั้งแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่ และดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นธรรมและครอบคลุมในทุกกลุ่มของสังคม โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเชิงนโยบายซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย สำหรับตอบสนองต่อความท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากคนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
ในระหว่างการประชุมช่วงรับประทานอาหารกลางวันของหัวหน้าคณะจากแต่ละประเทศ ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการสร้างระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ ตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการปรับปรุงคุณภาพชีวิต
ประเทศไทย ได้ร่วมกับประเทศสมาชิก OECD และประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญ ในการรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยนโยบายการเปลี่ยนแปลงด้าน วทน. เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและทั่วถึง ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อกระตุ้นการวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบและความเท่าเทียมกัน เพื่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายวิกฤตระดับโลก ภูมิอากาศ เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน
ในการประชุมครั้งนี้ สอวช. ยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 124 โดย ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยนโยบายการเปลี่ยนแปลงด้าน วทน. เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและทั่วถึง และ ดร.ปราณปรียา ได้ให้ความเห็นประกอบการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและงบประมาณของคณะกรรมการฯ โดยแผนงานการปฏิรูปนโยบาย วทน. เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นแผนงานที่ถูกนำร่องประยุกต์ใช้กับประเทศไทยภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Programme Phase II (CP2) โครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย
นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่าง OECD และองค์กรระหว่างประเทศหรือคณะกรรมการอื่น ๆ อาทิ อาเซียน และ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ซึ่งมีเป้าหมายและภารกิจร่วมกันในการพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประเทศไทยยินดีเป็นหน่วยประสานให้เกิดการมีส่วนร่วมและกระชับความร่วมมือระหว่างองค์กรดังกล่าว
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ดร.ปราณปรียา และ ดร.อภิชาติ อภัยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สอวช. ยังได้ประชุมร่วมกับ Division of Science and Technology Policy, Directorate of Science, Technology and Innovation, OECD เพื่อหารือแผนการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ภายใต้โครงการ CP2 เพื่อประเมินสถานภาพระบบนิเวศนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการขนส่ง และภาคเกษตรกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้กรอบการทำงาน OECD S&T Policy 2025 รวมถึงการประชุมหารือการจัดงานสัมมนาเพื่อนำเสนอแพลตฟอร์ม European Commission – OECD Science, Technology and Innovation Policies (STIP) Compass และประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มเชิงนโยบายแก่หน่วยงานพันธมิตรในประเทศไทย