messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. บพข. มร.สส. และ TESTA ECAT ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดงานศึกษาดูงานเชิงวิชาการ โครงการ “การสร้างห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไทย – จีน”

กระทรวง อว. โดย สอวช. บพข. มร.สส. และ TESTA ECAT ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดงานศึกษาดูงานเชิงวิชาการ โครงการ “การสร้างห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไทย – จีน”

วันที่เผยแพร่ 8 พฤษภาคม 2024 1077 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงานศึกษาดูงานเชิงวิชาการในกลุ่มอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ภายใต้ชื่อโครงการ “การสร้างห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไทย – จีน” ระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน 2567 ณ เมือง Shenzhen สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาดูงานเชิงวิชาการ การแสดงเทคโนโลยีแบตเตอรี่นานาชาติ ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 16 (16th Shenzhen International Battery Industry Exhibition) หรือ China International Battery Fair (CNIBF) จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และจัดกิจกรรมการศึกษาดูงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่เซลล์และแบตเตอรี่แพ็ค มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 36 หน่วยงาน ประกอบด้วยหน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 29 หน่วยงาน หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 6 หน่วยงาน และหน่วยงานภาคการศึกษา จำนวน 1 หน่วยงาน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 55 คน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ผู้แทน สอวช. พร้อมคณะฯ ได้เข้าศึกษาดูงานเชิงวิชาการ การแสดงเทคโนโลยีแบตเตอรี่นานาชาติ ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) อาทิ เซลล์แบตเตอรี่ สถานีชาร์จที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (Portable Charging Station) ระบบกักเก็บพลังงานแบบเรียงซ้อน (Stacking ESS) อุปกรณ์ควบคุมระบบตัดไฟทั้งในรูปแบบ DC และ AC และ อื่น ๆ

ภายในงานดังกล่าวได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สอวช. และ CNIBF ณ ห้องโถงที่ 8 งานมหกรรมแสดงสินค้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เมือง Shenzhen สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สิริพร กล่าวเปิดงานและเป็นประธานในพิธีร่วมลงนาม และ Mr. Li Ming Yang ผู้จัดการทั่วไป สาขากว่างโจว ผู้แทนจาก Guangzhou Zhenwei International Exhibition Co., Ltd. (CNIBF) ร่วมกล่าวเปิดงานและลงนามในบันทึกข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสียหลักเพื่อที่จะเข้าเยี่ยมชมโรงงานหรืองานจัดแสดงต่าง ๆ ที่ถูกจัดขึ้นในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานสัมมนา การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการเผยแพร่ข้อมูล สำหรับผู้ที่มีส่วนได้เสียหลักเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการแต่ละที่ให้สามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการระดับโลก ดร.สิริพร พิทยโสภณ กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ CNIBF ในครั้งนี้ จะสามารถสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดย สอวช. จะยืนหยัดในการให้การสนับสนุนในด้านที่มีความเชี่ยวชาญ และด้านอื่น ๆ ต่อไป ในขณะที่ CNIBF ได้กล่าวว่า เราได้ให้คำมั่นสัญญาเพื่อที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถพัฒนาเป็นความร่วมมือที่ระยะยาวต่อไป

พร้อมกันนี้ได้มี การนำเสนอข้อมูลความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดย ผศ.ดร.พรรณทิพย์ กาหยี ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มร.สส. การนำเสนอข้อมูลด้านการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภายใต้ระบบ ววน. โดย รศ.ดร.วัชรพล ชยประเสริฐ ผู้อำนวยการแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ผู้แทนจาก บพข., การนำเสนอข้อมูลด้านห่วงโซ่อุปทาน (Battery Value Chain) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข. และอุปนายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย TESTA และการนำเสนอข้อมูลด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สอวช. และนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย

กิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ คือ กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) โดยได้เทียบเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมด้านแบตเตอรี่และห่วงโซ่มูลค่าของสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 37 บริษัท และผู้ประกอบการที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จากประเทศไทยจำนวน 29 บริษัท ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลัก (Key Stakeholders) ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ตลอดห่วงโซ่มูลค่า

เมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน คณะฯ ได้เข้าศึกษาดูงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่การผลิตระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ เซลล์แบตเตอรี่ (Battery Cell) โมดูล (Module) ไปจนถึงแบตเตอรี่แพ็ค (Pack) จำนวน 4 โรงงาน อันประกอบด้วย

1) EVE Energy Co., Ltd. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียม ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 และได้รับการยอมรับใน Shenzhen GEM (Green Eco-Manufacture) ครั้งแรกในปี 2009 ต่อมาในปี 2022 บริษัทได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ผลิตรายใหม่สำหรับกลุ่ม BMW และ DAYUN โดยมีรูปแบบธุรกิจแบบ OEM ซึ่งให้บริการเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ครอบคลุมด้านแบตเตอรี่และด้านพลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) โดยไม่ได้จำกัดการผลิตแบตเตอรี่เพื่อเป็นการสนองต่อความต้องการในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เท่านั้น จึงทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์เซลล์แบตเตอรี่ที่มีความหลากหลาย อาทิ Li-SOCl₂, Li-MnO₂, Capacitor, Super Capacitor, Pouch Cell, Cylindrical Cell, Bean Cell, Prismatic LFP Cell, Prismatic NCM Cell, Pouch NCM Cell, EV – Cylindrical Cell และ อื่นๆ ซึ่งสามารถครอบคลุมการใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม  ปัจจุบันบริษัทได้จัดตั้งสถาบันวิจัยที่มีแพทย์ และวิศวกรด้านการวิจัยและพัฒนาแบบสหวิทยาการรวมกว่า 3,100 คน ที่มุ่งเน้นไปที่การวิจัยในด้านวัสดุ ปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี การออกแบบโครงสร้าง และการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถาบันดังกล่าวสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรระดับประเทศได้มากกว่า 5,870 รายการในสาธารณรัฐประชาชนจีน

2) Sunwoda Mobility Energy Technology Co., Ltd. ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยเป็นอีกหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งธุรกิจของบริษัทประกอบด้วยแบตเตอรี่ 3C แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การบริการด้านพลังงาน ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ การผลิตอัจฉริยะ อินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรม และการบริการทดสอบ ทั้งนี้ บริษัทดำเนินการธุรกิจบางส่วนในรูปแบบของ OEM โดยธุรกิจหลักเน้นไปที่เป็นแบตเตอรี่ทั่วไปสำหรับเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งเป็นอีกบริษัทที่ไม่ใด้เน้นการผลิตแบตเตอรี่เพียงเพื่อตอบสนองต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยสถาบันวิจัย Sunwoda

3) Guangzhou Great Power Energy & Technology Co., Ltd ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 และเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2015 โดยผลิตเซลล์แบตเตอรี่ แพ็คแบตเตอรี่ (PACK) แร็คแบตเตอรี่ (RACK) ตู้เก็บพลังงานกลางแจ้ง ตู้เก็บพลังงานแบบคอนเทนเนอร์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้แก่หลายแบรนด์ โดยบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นอันดับแรก โดยยืนยันว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งปริมาณการจัดส่งแบตเตอรี่เก็บพลังงานของบริษัทยังจัดอยู่ในอันดับห้าของโลก และปริมาณการจัดส่งแบตเตอรี่เก็บพลังงานในบ้านอยู่ในอันดับสองของโลก

4) Huawei Digital Power Technology Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Digital Power โดยเป็นแนวคิดใหม่เพื่อเป็นการควบรวมเทคโนโลยี Digital และ Power Electronics เข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและสนับสนุนการดำเนินการด้านพลังงาน โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการพลังงานอย่างครบวงจร อาทิ Fusion Solar, Power Supply, Site Power Facility, Powertrain, และ Embedded Power

เมื่อวันที่ 27 เมษายน คณะฯ ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสรุปข้อมูลและประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการศึกษาดูงานเชิงวิชาการ ณ ห้องประชุมชั้นที่ 16 โรงแรม Century Kingdom Hotel

ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีการนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลสนับสนุนที่เป็นประโยชน์โดย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์และสิ่งที่คาดหวังจากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ และสรุปสถานะของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างของความต้องการแบตเตอรี่ ที่มีความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย ดร.ธนาคาร การนำเสนอข้อมูลด้านการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภายใต้ระบบ ววน. โดย รศ.ดร.วัชรพล ชยประเสริฐ ผู้อำนวยการแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ผู้แทนจาก บพข. การสรุปรายละเอียดพื้นฐานเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานสำรองและการประยุกต์ (Energy Storage and Applications) โดย รศ.ดร.วีรเชษฐ์ ขันเงิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การสรุปรายละเอียดข้อมูลด้านห่วงโซ่อุปทาน (Battery Value Chain) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข. และอุปนายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) การสรุปรายละเอียดข้อมูลด้านโมเดลทางธุรกิจในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยนายปริพัตร บูรณสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกวินน์ คอนซัลติ้ง จำกัด และอุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย

โดยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการได้มีการเปิดเวที ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมที่ใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบสำคัญในประเทศไทย จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมโครงการ (Key Stakeholders) โดยมีรายละเอียดและประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. หน่วยงานภาคเอกชน และสมาคม แสดงความคิดเห็นว่า
    • 1.1 กรณี การนำเข้าแบตเตอรี่มาใช้กับระบบเดิม (ระบบโซลาร์เซลล์) เรื่องการขออนุญาตการใช้งานใช้เวลาค่อนข้างนานมากกว่า หกเดือน
    • 1.2 กรณี การนำแบตเตอรี่มาทดลองใช้งาน (Testing) มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการขออนุญาตที่ใช้เวลา และมีข้อจำกัดด้านภาษี ที่ต้องเสียภาษี ทำให้ไม่สามารถนำมาทดลองได้ทุกเทคโนโลยีเพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา
    • 1.3 กรณี การนำแบตเตอรี่เข้ามาเพื่อการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) จะมีค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เกิดขึ้น เสนอให้ควรงดเว้นการเก็บภาษีแบตเตอรี่ที่ใช้ภายใต้กิจกรรม R&D หรือโครงการวิจัยของรัฐหรือเอกชนได้
    • 1.4 กรณีของแบตเตอรี่ หากมีการนำเข้าแบตเตอรี่ Cells จากต่างประเทศเข้ามาแล้วนำมาพัฒนาทำเป็น Pack เอง ในส่วนแรกจะเสียภาษีนำเข้า 10% สรรพสามิต 8% พอมาผลิตเป็น Module และ Pack แล้ว ถือว่าเป็นอีก Product ซึ่งจะมีการตั้งราคาขายที่จะขายต่อให้ผู้ประกอบการ เช่น ผู้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดย Product ในส่วนถัดมานี้ จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตของราคาขายอีก 8% อีกครั้ง และสามารถหักลดหย่อนที่เสียภาษีไปแล้วในส่วนแรกได้ และต่อมาจะมีภาษีมหาดไทยอีก ซึ่งหากมองว่าหากต้องการสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ ภาษีต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ เสนอให้มีมาตรการสนับสนุนออกมาเพื่อให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดได้ และนอกเหนือจากแบตเตอรี่แล้ว Parts อื่นก็น่าจะได้รับการสนับสนุนไปพร้อมกันได้ด้วย เช่น กรณีนำมอเตอร์เข้ามาทดสอบ หรือยกเว้นภาษีในช่วง 2-3 ปีแรก
    • 1.5 กรณี มีการออกแบบวิจัยและพัฒนาเชิงระบบและทดสอบ เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระบบสลับแบตเตอรี่ ที่มีการกำหนดคุณลักษณะ Specification และการออกแบบที่ต้องมีการ Research ทดสอบและเก็บข้อมูลเพื่อกลับไปวิเคราะห์จำนวนมาก ในระดับหลักร้อยคัน ในมุมมองของผู้ที่ทำวิจัยก็ยังถือว่าอยู่ในระดับ R&D Stage เพราะว่าการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จะมีการพัฒนา Parts ให้มี Local Content ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีบางกลุ่มยังไม่ Commercial ในส่วนนี้ หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาออกเอกสารรับรองว่าการดำเนินงานอยู่ใน R&D Stage ก็น่าจะสามารถขอยกเว้นภาษีที่เกี่ยวเนื่องในส่วนนี้ได้ด้วย ซึ่งจะส่งเสริมการวิจัยและสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศ
    • 1.6 กรณี ด้านการกำหนดมาตรฐาน ตัวอย่างเรื่อง ยานยนต์ มาตรฐานของไทยที่กำหนดขึ้นมาบางเรื่องกลายเป็นกำแพงที่จะทำให้เราแข่งกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้ลำบาก ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีขนาดและความสามารถที่ยัตามหลังบริษัทจากต่างประเทศ ในช่วงแรกเสนอให้ควรพิจารณากำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดได้ในช่วงแรก เมื่ออุตสาหกรรมเกิดได้แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่คุณภาพมาตรฐานที่มีความเข้มข้นสูงขึ้น เช่น ในช่วงแรกระเบียบอาจจะกำหนดให้บางส่วนอยู่ในช่วงของการผ่อนปรนเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทดลองด้านต่างๆ และพัฒนายกระดับความสามารถในการแข่งขันขึ้นและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ (Sandbox)
    • 1.7 กรณี กลุ่มผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตจากประเทศจีนได้ เนื่องจากกำลังการผลิตของจีนสูงกว่า และมีราคาขายต่ำกว่าการผลิตในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับจีนตรง ๆ ได้ แต่สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์โดยการกำหนดมาตรฐานหรือมีการสนับสนุนให้ผ่านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เสนอให้ภาครัฐพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินและส่งเสริมในการทำให้ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าไทยที่แม้ว่าอาจจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่มีคุณภาพมาตรฐานและสามารถให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคมากกว่า มีชื่อเสียงและมีการให้บริการที่ดีกว่า สามารถเป็นทางเลือกของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้ (สินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ ไม่ได้ต้องกำหนดให้ผ่านมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานจีนที่ได้รับใบอนุญาตหรือรับประกันมา ก็ไม่แน่เสมอไปว่าคุณภาพที่ได้นั้นจะมีคุณภาพเท่ากับที่ระบุในใบอนุญาตนั้นจริง) 
    • 1.8 กรณี การนำเข้ายานยนต์ หรืออุปกรณ์ที่นำเข้าทั้งชิ้นหรือแยกส่วนจากต่างประเทศ มีหลายสินค้าอยู่ภายใต้ข้อตกลง FTA ASEAN-CHINA จะเสียภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน 0% ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะมีต้นทุนที่สูงกว่าเพราะเสียภาษีโดยรวมมากกว่า และบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศได้กำหนดให้ต้องใช้งานชิ้นส่วนร่วมกับ Brand ของผู้ผลิตนั้นๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสไม่มากในการอยู่ใน Value Chain เนื่องจากหากเป็นระบบโปรโตคอลการสื่อสารแบบปิดระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Close Protocol) การซ่อมบำรุงจะไม่สามารถทำได้ และหลายชิ้นส่วนต้องทิ้งไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้งานต่อได้ หรือทำได้แต่ก็ทำได้ไม่เต็มทุกฟังก์ชั่นตามที่ได้ออกแบบมาตั้งแต่ต้น ทำให้ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนและความรู้จากบริษัทต่างชาติไปตลอด ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ เสนอให้มีการเจรจาเพิ่มเติมหากต้องการได้รับการงดเว้นภาษีนำเข้า 0% ควรขอให้มีการเปิดโปรโตคอลระบบการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Open Protocol) ของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานแล้ว ผู้ประกอบการไทยจะสามารถซ่อมบำรุง (Maintenance) ผลิตอะไหล่ทดแทน (Replacement parts) หรือปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงอายุที่สอง 2nd Life โดยการพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการเขียน Software เอง และพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้
    • 1.9 กรณี การตีความจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลระเบียบที่เกี่ยวข้องมีความไม่ชัดเจน (เช่น การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทั้งผลิตภัณฑ์หรือแยกชิ้นส่วนมาแล้วกลับไปประกอบใหม่ ของกลุ่มผู้ประกอบตัวถังรถ ที่อาจจะมองว่าเป็นการนำเข้าชิ้นส่วน หรือเป็นการนำเข้ามาประกอบทุกชิ้นเป็นรถใหม่ CKD) ตัวอย่าง การตีความของส่วนงานภายใต้หน่วยงานเดียวกัน อาจมีการตีความสิ่งเดียวกันโดยให้มุมมอง กรอบของการพิจารณา และการให้ความหมายที่แตกต่างกัน ทำให้ข้อมูลหรือคำปรึกษาที่ผู้ประกอบการได้รับจากหน่วยงานภาครัฐของจากแต่ละกระบวนการมีความคลาดเคลื่อนกันทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการ อาจเกิดการกระทำผิดทางกฎหมายในภายหลังหรือเป็นคดีความทางอาญาขึ้น โดยที่ไม่ได้มีเจตนา อาจมีค่าปรับย้อนหลังจำนวน 1-100 ล้านบาท เมื่อหากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจและเลือกไม่ทำธุรกิจที่สร้างขีดความสามารถที่ประเทศต้องการ ปัจจุบันความไม่ชัดเจนของข้อมูล การให้คำปรึกษาและการตีความของแต่ละกระบวนการที่มีความคลาดเคลื่อนกันเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของอุตสาหกรรม เสนอให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลระเบียบที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำ Case Studies ที่ได้เกิดขึ้นแล้วมาศึกษาทบทวนและจัดทำเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อสื่อสารกันภายในระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เป็นการปลดล็อกข้อจำกัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนเสนอให้ทำข้อมูลเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากภายนอก ควรมีการสื่อสารเผยแพร่เป็นคำแนะนำและข้อสรุปที่สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงได้ ซึ่งข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและประเทศไทยในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้สามารถแข่งขันได้
    • 1.10 ผู้ประกอบการ ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณามุมมองที่ว่า แบตเตอรี่ไม่เท่ากับอีวี กล่าวคือ เสนอให้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โดยที่ไม่ได้ผูกติดกับว่าแบตเตอรี่ที่จะได้รับมาตรการสนับสนุนนั้นจะต้องใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ควรเปิดกว้างให้ได้รับการสนับสนุนกับหลายอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนในลักษณะเดียวกัน
  2. หน่วยงานภาครัฐ แสดงความคิดเห็นว่า
    • 2.1 กรณี มีการนำเข้าแบตเตอรี่แยกเข้ามาแบบ Cell, Module หรือ Pack จะมีการแยกเก็บภาษีทุกขั้นตอนเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่ไม่รวมวงจรต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน (อ้างอิงจากกรมศุลกากร) ส่วนการนำ EES เข้ามาทั้งระบบที่สมบูรณ์ (Complete System) จะไม่นับว่าเป็นแบตเตอรี่เพราะว่าเป็นคนละพิกัด การเก็บภาษีจะดูจากมูลค่าของราคาประกาศขายของแบตเตอรี่ที่ไม่ใช่ดูจากขนาดความจุ (Capacity) โดยการนำเข้าแบบปลีกหรือแบบส่งจะมีแนวทางเดียวกัน
    • 2.2 ที่ผ่านมาแบตเตอรี่ได้รับการสนับสนุนอยู่ในกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือกลุ่มชิ้นส่วน และยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรมออกมาเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันได้มีการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นและเติบโตในระยะยาว ซึ่งจะมีนโยบายคล้ายๆ กับนโยบาย EV ออกมา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีความสำเร็จที่กำลังไปสู่จุดหมาย ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการคิดภาษีและมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยอยู่ระหว่างการหารือกับกรมศุลกากร สรรพสามิต และให้สอดรับกับมาตรการของ BOI เพื่อลดข้อจำกัดและให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาแบตเตอรี่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต 8% (Flat Rate) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2567 ซึ่งเป็นแนวคิดที่เก่า และจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และ Supply Chain ให้เกิดในประเทศ เช่น การสนับสนุนแบตเตอรี่ที่ใช้งานในอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ การลดภาษีที่เกิดจากกิจกรรม R&D และ Testing (ทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอื่นๆ) และมาตรการสนับสนุนที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป

เรื่องล่าสุด